วันนี้( 26 ก.ย.) รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ยื่นเรื่องขอควบรวมกิจการ ต่อ สำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และ คัดค้าน จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการกสทช.ทั้ง 5  ราย ยังไม่มีการลงมติว่าจะอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ให้ โดยล่าสุด ได้กำหนด เรื่องนี้บรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 12  ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณาลงมติการควบรวมธุรกิจของสองบริษัท ซึ่งหากที่ประชุมมีมติเสร็จสิ้นในเรื่องนี้ จะมีการประกาศให้ทราบทั่วกันหลังการประชุมในวันดังกล่าว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความกังวัลถึงดีลควบรวมทรู-ดีแทค ครั้งนี้ หากมีการอนุญาตให้ควบรวมกัน ได้มีข้อกังวลใน 3 เรื่อง คือ ผลกระทบต่อผู้บริโภค  ผลกระทบต่อการแข่งขัน และ ผลกระทบต่อรัฐและเศรษฐกิจ ภาพรวมของประเทศ  ทางสำนักงาน กสทช. จึงได้ ทำการศึกษาเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่าง ๆ จากกรณีศึกษาจากต่างประเทศ และบริษัทที่ปรึกษานำเสนอ เพื่อพิจารณาออกเงื่อนไขเป็นมาตรการ 14  ข้อในด้านต่าง ๆ หากกรณี กรรมการ กสทช.มีการลงมติให้ควบรวมได้ ดังนี้

มาตรการที่ 1 การถือครองคลื่นความถี่

โดยทาง สำนักงานฯ เห็นว่า ควรจำกัดมีเงื่อนไข ให้ทาง ทรูและ ดีแทคไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันเพื่อให้บริการได้ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช . อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเมื่อทาง สำนักงานฯ ได้ประมวลความเห็นของฝ่ายต่างๆ แล้ว เห็นควรให้เพียงมีการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้วโดยไม่ให้มีการใช้คลื่นความถี่รวมกันและไม่มีการเรียกคืนคลื่นความถี่ แต่ในอนาคตสำนักงานกสทช. ก็อาจพิจารณา ในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไกต่างๆ

มาตรการที่ 2 การคงทางเลือกของผู้บริโภค

ข้อเสนอของสำนักงานกสทช. กำหนดให้ทรูและ ดีแทค ไม่มีการรวมธุรกิจกันและยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น อาจเป็นในระยะ  3 ปี นับจากการควบรวม

มาตรการที่ 3 การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย

กำหนดให้ทรูและ ดีแทค ต้องจำหน่าย capacity หรือ ความจุ ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ MVNO หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือนโดยอาจกำหนดเป็น 20 % ของ ความจุ ของโครงข่ายตนเอง ซึ่งมากกว่าเงื่อนไขปกติที่กำหนดที่ 10%

ซึ่งในความเห็นของสำนักงานฯ อาจพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้แก่

1 การเพิ่มจำนวนหรือคงจำนวน mvno ในตลาด เช่นการกำหนดให้ก่อนรวมธุรกิจหรือหลัง รวมธุรกิจต้องทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการ mvno ที่ไม่ได้อยู่ในเครือของผู้รวมธุรกิจจำนวนอย่างน้อย 1-2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิด mvno และทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทันที อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิด mvno ที่ไม่มีความพร้อมในการให้บริการแต่เข้าสู่ตลาดด้วยสภาพบังคับของมาตรการซึ่งท้ายสุดก็จะไม่สามารถแข่งขันได้และต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

2 การกำหนดให้การขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ประกอบกิจการ mvno ต้องคิดค่าตอบแทนตามปริมาณที่ใช้จริงเพื่อลดภาระและความเสี่ยงในการให้บริการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ซึ่งหาก mvno สามารถซื้อบริการในปริมาณที่สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการของตนเองแล้วจะเป็นการลดต้นทุนและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ mvno สามารถแข่งขันและคงอยู่ในตลาดได้

มาตรการที่ 4 การกำหนดอัตราค่าบริการ

เห็นควรว่าทาง ทรู และดีแทค  ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช.อย่างเคร่งครัด  และเห็นควรกำหนดมาตรการเกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจากการรวมธุรกิจ และมีสภาพที่เหมาะและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยควรมีลักษณะเดียวกับแนวทางที่ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ เรื่อง การกำหนดราคาในรูปแบบ Price Cap ซึ่งมีการคำนึงสภาพตลาดในปัจจุบันและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น

มาตรการที่ 5 คุณภาพในการให้บริการ

1 ทรูและ ดีแทค ต้องไม่ลดคงจำนวนเซลล์ไซส์ของทั้ง 2 บริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม

2 กำหนดให้ทั้ง 2 บริษัทมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (คอล เซ็นเตอร์) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

มาตรการที่ 6 สัญญาการให้บริการ

เห็นควรให้ทั้งสองบริษัท ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการ

มาตรการที่ 7 ความครอบคลุมของโครงข่าย

กำหนดมาตรการเพิ่มเติมข้อกำหนดความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5จี เช่น ให้มีความครอบคลุมโครงข่าย 5จี มากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 5 ปี

มาตรการที่ 8 การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

ควรให้ทางทรู และดีแทคจะต้องเปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเอง และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

มาตรการที่ 9 การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการควบรวมธุรกิจ

การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ

มาตรการที่ 10 การติดตามผลการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังควบรวมธุรกิจ

การรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. กำหนดให้รายงานเป็นรายไตรมาสอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี

มาตรการที่ 11 การส่งเสริมการแข่งขัน – เพิ่มผู้ให้บริการ MNO

กำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอรวมธุรกิจและจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่เป็นการเฉพาะ

 กำหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนการรวมธุรกิจ เพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างช้าภายใน 6  เดือนหลังการรวมธุรกิจ

กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถทำสัญญา Roaming กับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ

 อย่างไรก็ตามมีข้อกังวล คือ หากมีการกำหนดให้ผู้ขอควบรวมต้องควบคุมคุณภาพเรื่อง Roll out เรื่องค่าบริการที่ต่ำลงดังนั้นจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอในการให้บริการและอาจมีประเด็นทางกฎหมายเนื่องจากมีการชำระเงินประมูลและใช้ประโยชน์ขึ้นความถี่ไปแล้ว

และอาจไม่มีผู้สนใจเป็นผู้ให้บริการ mno (โอปอเรเตอร์) รายใหม่และทำให้ไม่เกิดประโยชน์จากคลื่นความถี่ผู้ให้บริการรายใหม่อาจไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันนำไปสู่การขายกิจการให้กับผู้ให้บริการรายเดือนในตลาด

มาตรการที่ 12 การป้องกันการครอบงำกิจการเพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ทรูหรือ ดีแทค ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุม NewCo ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

1. เงื่อนไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ NewCo  อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นของ ทรูและ ดีแทค ต่างฝ่ายไม่สามารถเสนอชื่อกรรมการได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของรายชื่อกรรมการใน NewCo ในระยะเวลา 3  ปีแรกภายหลังการรวมธุรกิจ

2 เงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo

การแต่งตั้งผู้บริหารและกรรมการบริษัทย่อยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของNewCoโดยคณะกรรมการชุดย่อยของNewCoจะต้องได้รับการแต่งตั้งที่สอดคล้องกับลักษณะการแต่งตั้งคณะกรรมการของNewCo

มาตรการที่ 13 การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการใหม่และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่

1.กสทช. ควรมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้

2.กำหนดให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการรายอื่นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น ต้องหาเทคโนโลยีที่ทัดเทียมเข้ามาด้วย

3.กสทช. ควรมีบทบาทหลักกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่

4.กสทช. ควรมีการกำหนดแผนการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ กสทช. เอง โดยพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการ

มาตรการที่ 14 การรับเรื่องและกลไกการแก้ปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ

1.กำหนดให้ผู้ขอรวมธุรกิจต้องกำหนดให้มีกลไกในการรับเรื่องและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการหลังการรวมธุรกิจ

2.กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องจัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่สถิติและปัญหาการร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้วสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)  ได้เข้ายื่นหนึ่งสื่อต่อ นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการ ประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อร้องเรียนการทำหน้าที่ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช.  ซึ่งทาง น.ส.สารี ก็ได้ระบุถึงกระแสข่าวที่ทาง สำนักงานกสทช. ได้ออกเงื่อนไขหากมีการควบรวม 14 ข้อ ว่า เห็นว่าเป็นมาตรการที่อ่อนมาก จึงขอให้มีการเปิดประชาพิจารณ์ ให้สาธารณชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นก่อน โดนทาง สอบ. ก็จะออกมาพูดเรื่อง 14 มาตรการในวันที่ 27 ก.ย.นี้