เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ รวมทั้งคนในวงการอัยการ ทนายความ ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ หลังจาก นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก ตำหนิละครดัง ช่อง 3 “ให้รักพิพากษา” กำลังบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของอัยการ และตำแหน่งผู้พิพากษา อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

งานเข้า!ละคร ‘ให้รักพิพากษา’ บิดเบือนกระทบความรู้สึกอัยการ ร้องแก้บทด่วน!

โดยได้ยกตัวอย่างที่ละครบิดเบือนบางส่วนว่า “ให้รัก พิพากษา ละคร ช่อง 3 เป็นละครที่มีการนำเสนอที่บิดเบือนการทำงานของอัยการที่เสียหายมาก เช่น คดีไม่สำคัญมอบอัยการผู้ช่วยทำ หรือ ชวนทนายมาเป็นอัยการเพราะกำลังขาดคน หรือการทำงานโดยเลือกเอาเอกสารออกจากสำนวน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำให้สังคมเข้าใจบทบาทอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง กระทบต่อความรู้สึกของอัยการทั่วประเทศ ในเบื้องต้นจะได้ประสาน หนุ่ม กรรชัย เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ คนในวงการต่างพากันแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยทางด้านแฟนเพจด้านกฎหมายชื่อดังอย่าง @ทนายตัวแสบ:Badass Attorney ได้แสดงความเห็นระบุว่า

‘ทนายตัวแสบ’เปิดขั้นตอนวงการกฎหมาย ย้ำอยากเห็น ‘ให้รักพิพากษา’เสนอถูกต้อง

“ตัดมาเรื่องที่ทางอัยการเป็นกระแส อันนี้ส่วนตัวเดาว่าคนทำบทละครน่าจะไปอิงจากซีรีส์ต่างประเทศอย่างเกาหลีใต้ตามที่มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ครับ” อธิบายโดยย่อคือที่เกาหลีใต้มีการสอบ Bar Exam อย่างเดียวถ้าสอบผ่านแล้วจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ ก็ได้ สามารถเปลี่ยนสายงานไปมาได้ด้วย (ผิดถูกอย่างไรมีข้อมูลมานำเสนอได้ครับอันนี้ก็อ้างอิงจากคนอื่นมา)

แต่ในไทยไม่ใช่อย่างนั้นครับในไทยก่อนจะเป็นอัยการได้เอาแบบสายตรง

1.จบนิติศาสตร์

2.จบเนติบัณฑิต

3.เก็บคดีครบถ้าเป็นทนายความ หรือหากรับราชการหรือทำงานสายอื่นก็ต้องอายุงานครบ อายุถึงเกณฑ์ คุณสมบัติครบถ้วนถึงมีสิทธิสอบ

“ส่วนจะสอบได้ไม่ได้อีกเรื่อง ไม่มีการเชิญไปเป็นอัยการได้ดื้อๆ แบบนี้และอัยการโตไปก็เป็นอัยการสูงสุดครับ แกจะโตไปเป็นผู้พิพากษาไม่ด๊ายยยยย” อ๋อยกเว้นตอนเป็นอัยการไปสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้นะครับ แต่ก็ต้องสอบไง ไม่ใช่ทำเรื่องย้ายสายงานได้เลย ส่วนจะลาออกไปเป็นนักการเมืองก็อีกเรื่องนึง

ด้าน รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้เขียนข้อความแสดงความเห็นกรณีดังกล่าวว่า “ถึง คุณอัยการ ผู้เดือดร้อนกับละครทีวี เห็นข่าว “อัยการเดือด ละคร ‘ให้รักพิพากษา’ เนื้อหาบิดเบือน  ผมก็รู้สึกละเหี่ยใจอย่างไรก็ไม่รู้

“อ.นิติศาสตร์” ละเหี่ยใจอัยการเดือดบทละครทีวี แนะควรเดือดคดีดังอย่างคดี “บอส”

แน่นอนว่าคงมีส่วนที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำงาน การคัดคน ให้เข้าสู่อาชีพนี้ในหลายจุด แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรมาก หน่วยงานรับผิดชอบก็ชี้แจงกลับไปทางผู้จัดให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง เชื่อว่าทางผู้จัดคงปรับแก้หรือมีคำอธิบายกลับมาแน่นอน แวดวงบันเทิงถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เขาคงไม่อยากมายุ่งกับแวดวงกฎหมายหรอก

แต่ขณะที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับละครที่ไม่เป็นความจริง แต่กับ “ความจริง” ที่สังคมตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องกับการทำหน้าที่ของอัยการว่าไม่ได้เป็นตามหลักวิชาชีพ เฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ห้วงเวลาภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีเป็นจำนวนมากที่ประชาชนถูกฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาล ทั้งที่พยานหลักฐานหรือการกระทำไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความผิดอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ปรากฏการทำหน้าที่ในการ “อำนวยความยุติธรรม” มากเท่าไหร่

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์สมชาย ยังบอกทิ้งท้ายว่า “กรณีต่างๆ เหล่านี้แหละครับ ที่คุณอัยการทั้งหลายควรจะ “เดือด” แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ ความเงียบเชียบที่ครอบคลุมไปทั่ว มีตัวอย่างอีกเยอะ ทั้งที่ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและที่ได้ทำการศึกษา แต่ไม่อยากจะอธิบายทั้งหมดในที่นี้ ถ้าอัยการคนไหนสนใจอยากฟังก็ยินดี แต่คิดว่าคงต้องเตรียมเวลามามากหน่อย ถ้าเล่าให้ฟังก็คงหลายวันหลายคืนหรืออาจเป็นเดือน เอาแค่การสั่งฟ้องคดี 112 ก็มีปัญหาเป็นอย่างมาก

ผมมีความเห็นว่าคุณอัยการทั้งหลาย ควรจะรู้สึก “เดือด” ในเรื่องที่ควรเป็นเดือดเป็นร้อนให้มากกว่านี้ครับ ไหน ๆ ก็กินเงินเดือน เงินตำแหน่ง ค่ารถ ไม่น้อยกว่าบุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรม”

ทางด้าน “ทนายนิด้า” ศรันยา หวังสุขเจริญ ทนายความชื่อดัง ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นระบุว่า “#ละครก็คือละครไม่ใช่สารคดี ในส่วนของนิด้า ผู้เขียนบทมาติดตามการว่าความในศาลของทนายหญิงซึ่งดูการว่าความ ดูในห้องพิจารณา เขาทำกันประมาณไหน มีการสัมภาษณ์ชีวิตจริง มีการพูดคุยเกี่ยวเส้นทางการมาเป็นอาชีพทนายความว่ายากง่ายแค่ไหน อุปสรรคมีอะไรบ้าง คำเยินยอ คำดูถูก ความกดดัน เอามาเป็นข้อมูลประกอบในการเขียนบทคาแรกเตอร์ของทนายทิชา

‘ทนายนิด้า’ฝากไว้ให้คิดละครไม่ใช่สารคดี หลังอัยการตำหนิ ‘ให้รักพิพากษา’ บิดเบือน

ปล. ถ้าคิดถึงความน่าจะเป็น แทบไม่มีความเป็นไปได้เลยว่านักกฎหมายจะให้คำปรึกษาคนเขียนบทว่าเป็นอัยการชวนได้ โตไปเป็นผู้พิพากษาหรือนักการเมืองได้อีก และเท่าที่ทราบก็ไม่เห็นว่ามีใครให้ข้อมูลแบบนั้น แต่ด้วยความที่คนเขียนบทน่าจะคิดว่าเป็นละคร และคิดว่าคนดูเข้าใจ แม้จะมีคนดูบางกลุ่มที่ไม่เคยเข้าใจและคาดหวังให้ละครไปไกลถึงสารคดี แต่การวิจารณ์อยากให้หาข้อมูลข้อนี้ด้วย ไม่น่าจะด่วนสรุปว่าเอาใครก็ไม่รู้มาให้คำปรึกษา เพราะคนดูละครจำนวนมาก แม้จะไม่ทั้งหมดเขารู้และรับทราบได้ว่ามีนักกฎหมายไม่กี่คนที่เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้อยู่ แถมชื่อก็มีระบุไว้อยู่ใน end of credit”

นอกจากนี้ทางด้านชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ ต่างพากันติดแฮชแท็ก #ให้รักพิพากษา พร้อมทั้งพากันเข้ามาแสดงความหิดเห็นกันอย่างหลาก ทั้งบอกว่าบทดังกล่าวเป็นเพียงแค่ละคร สร้างมาเพื่อความบันเทิงและสนุกสนาน แต่บางส่วนกลับบอกว่าอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนี้ ทีมงานควรศึกษาให้เข้าใจก่อน ค่อยมาทำเป็นบทละคร..