สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ว่า นางคาริน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกหญิงทำเนียบขาว แถลงเมื่อวันอังคาร ว่ารัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เริ่มขั้นตอน “การประเมินความสัมพันธ์” กับซาอุดีอาระเบีย แต่ยังไม่มีการให้รายละเอียดชัดเจน โดยโฆษกหญิงทำเนียบขาวกล่าวเพียงว่า “จะมีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดภายในระยะเวลาอันใกล้นี้”


การประกาศดังกล่าวของทำเนียบขาวเกิดขึ้น ภายในเวลาเพียงวันเดียว หลังนายบ็อบ เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา เรียกร้องสหรัฐควรระงับความร่วมมือทุกด้านกับรัฐบาลริยาด ที่รวมถึงการขายอาวุธทุกชนิดด้วย


อย่างไรก็ตาม ไบเดนเพิ่งกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าเขา “ผิดหวังอย่างรุนแรง” ต่อการที่องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นหัวเรือใหญ่ และร่วมด้วยรัสเซียในนาม “โอเปกพลัส” มีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลดเพดานการผลิตลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล เริ่มเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นการลดอุปทานต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2563


ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทซาอุดีอารามโก รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย แจ้งต่อลูกค้าในเอเชีย 7 ประเทศ ว่าจะยังคงได้รับน้ำมันตามกำหนดในเดือน พ.ย. และเป็นไปตามปริมาณที่สั่งซื้อ ว่ากันว่ายิ่งสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่รัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งมองว่า เป็นจุดยืนของโอเปกในการ “เข้าข้าง” รัสเซีย


อนึ่ง สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ทรงมีพระบรมราชโองการ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สถาปนาเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ทีมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐในกรุงวอชิงตัน เมื่อต้นเดือนนี้ ว่าการที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เท่ากับว่า พระองค์ทรงมีสิทธิคุ้มกันตามกฎหมายของซาอุดีอาระเบียทุกประการ รวมถึงคดีความเกี่ยวกับ การสังหารโหดนายจามาล คาช็อกกี ภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ประจำเมืองอิสตันบูลของตุรกี เมื่อเดือน ต.ค. 2561.

เครดิตภาพ : REUTERS