นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่ระหว่างนำเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถึงแนวทางการให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 โดยนักท่องเที่ยวต้องพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 7 วันก่อน จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่องจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ส.ค.นี้
ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่นำร่องที่เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตในลักษณะ 7+7 ได้แก่ 1.เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2.เขาหลัก เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา และ 3.เกาะพีพี ไร่เลย์ และเกาะไหง จังหวัดกระบี่ โดยแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. และข้อกำหนดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด เชื่อว่าจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่เป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว
ส่วนการขับเคลื่อนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในปัจจุบัน มียอดนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่เกือบ 20,000 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค.–ก.ย. 2564) จำนวนกว่า 371,826 คืน มีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ที่เดินทางเข้ามาทั้งหมดนั้น ตรวจคัดกรองพบเชื้อจำนวน 55 คน คิดเป็น 0.28% และนำเข้าสู่กระบวนการของสาธารณสุขแล้ว
“รัฐบาลกำชับมาตรการการยกระดับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว โดยจังหวัดมีการถอดบทเรียน แหล่งไหนที่ไม่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เปลี่ยวไม่ปลอดภัย เร่งปรับปรุงแก้ไขควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด”