เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับไทม์ไลน์การเมืองหลังจากนี้ ซึ่งช่วงเวลาสำคัญคงจะต้องรอจับตากันหลังเดือน ม.ค. 2566 ที่จะเริ่มเข้าสู่ห้วงเวลาของการยุบสภา

ด้วยเงื่อนเวลาในการนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง ที่เริ่มหดสั้นลงเรื่อย ก็จะทำให้เห็นการย้ายพรรคอึกทึกครึกโครม ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์แห่ลาออกของ ส.ส. จำนวนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากการที่ ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมกว่า 31 คน

โดยกลุ่ม ส.ส. ที่พร้อมใจกันลาออกในครั้งนี้ แบ่งเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 11 คน, พรรคเพื่อไทย 7 คน, พรรคก้าวไกล 5 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 2 คน และ พรรคชาติพัฒนา, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคเพื่อชาติ, พรรครวมพลัง, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน

ซึ่งก็เป็นผลพวงจาก “พลังดูดไดโว่” ที่ดึง ส.ส. กลุ่มใหญ่ เข้าซบชายคา พรรคภูมิใจไทย ต่อยอดตามแผนการที่ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย ได้ประกาศวางแพลนว่า จะดัน “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ขึ้นแท่น นั่งตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำเอาหลายต่อหลายคนออกอาการวิตกกังวลว่า ปัญหาการลาออกของ ส.ส. อาจจะเกิดผลกระทบต่อการทำงานในสภา จนกลายเป็นแรงบีบ ที่ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องชิงปิดเกมยุบสภาเร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

โดยงานนี้ ชวน หลีกภัย ก็ออกมายืนยันว่า จำนวน ส.ส. ที่ออกไป ไม่ได้ส่งผลต่อการประชุมสภา โดยนับนิ้วดูองค์ประชุมในสภาแล้ว เหลืออยู่ทั้งสิ้น 442 คน โดยจำนวนกึ่งหนึ่งคือ 221 คน ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส. 250 คน ขณะที่ฝ่ายค้านมี ส.ส. 152 คน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่เพียงพอให้การประชุมสภาเดินต่อไปได้ แต่จุดอ่อนคือ นายกฯ และหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่ได้มีตำแหน่ง ส.ส. ในสภา จึงทำให้การประสานงานยากลำบาก ทำให้เกิดแรงสะดุด ทั้งนี้ จุดอ่อนดังกล่าวยังเป็นตัวสะท้อน ให้เห็นถึงจุดอ่อนของ “พี่น้อง 2 ป.” ในช่วงโค้งสุดท้ายบนเส้นทางอำนาจอย่างเห็นได้ชัด จนต้องเลือกแยกกันเดิน

แนวทางที่จะต้องจับตามองในช่วงหลังจากนี้ คือการตัดสินใจเลือกเส้นทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” หลังจากเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระ ครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยงานนี้ “บิ๊กตู่” มี 3 ทางเลือกให้ตัดสินใจ

ทางเลือกแรก คือ การไปต่อบนเส้นทางการเมือง ร่วมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ กับเวลาที่เหลือในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี

ทางเลือกที่สอง คือการกลับมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อร่วมกันสานต่อเส้นทางอำนาจ

และ ทางเลือกสุดท้าย คือการวางมือทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” แบบพอแค่นี้ เนื่องจาก “นั่งร้านอำนาจใหม่” ที่หวังจะสร้างความมั่นคงทางอำนาจ มีวี่แววพาไปไม่ถึงฝั่งฝันอำนาจได้ตามที่วาดหวัง ดังนั้น จึงต้องตัดสินใจจบการเดินทางบนเส้นทางการเมือง ทิ้งเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่เหลืออีก 2 ปี เอาไว้แบบไม่เสียดาย

โดยทั้ง 3 ทางเลือกที่ว่านี้ แม้จะดูเหมือนว่า ทางเลือกที่เห็นชัดที่สุดคือการไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่กลับกลายเป็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวลือหนาหูว่า “บิ๊กตู่” น่าจะเลือก “พอแค่นี้” กับเวทีการเมือง

ทั้งนี้ หากสแกนเข้าไปที่เนื้อในของพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ก็จะเห็นได้ถึงอาการ “เจ้าที่แรง” จนทำให้บรรดา “ขุนพลก๊วนลุงตู่” ที่จะย้ายสำมโนครัวเข้าไปอยู่ใหม่ ไม่มีพื้นที่ยืนภายในพรรค จนกลายเป็นเกมต่อรองอำนาจภายในพรรค ทั้งในส่วนของเก้าอี้ เลขาธิการพรรค ที่มีข่าวว่า มีการวางตัว “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่า ในกลุ่มของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็มีการวางตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้แล้วเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การจัดคนเกลี่ยอำนาจภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงออกอาการขลุกขลัก ติดกับ ขยับยาก จึงทำให้เกิดการปล่อยข่าวบลัฟ เพื่อบีบให้ “บิ๊กตู่” เข้ามาเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า “บิ๊กตู่” ได้เปิดเซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กับที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกินข้าวและพูดคุยกับ ส.ส. กว่า 40 คน จากหลายพรรค ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ถึงแนวทางสนับสนุนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้นคงจะต้องรอดูว่า บทสรุปสุดท้ายระหว่าง “บิ๊กตู่” และ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ หลังปรากฏการณ์ ส.ส. ลาออกแพ็กใหญ่ ก็มีการเดินหน้าเตรียมการสู้ศึกเลือกตั้งกันยกใหญ่ โดยมี ป.ที่ 4 คือ ป.ป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ “บิ๊กป้อม” เข้ามาทำหน้าที่จัดวางตัวผู้สมัครของพรรค ส่วนในสนามเลือกตั้ง กทม. เบื้องต้นได้มีการวางตัว “อ.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค รับบท “มาดาม” คุมสนามเลือกตั้ง กทม. โดยกำลังอยู่ระหว่างร่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ของพรรค ส่วนการคัดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในสายของ “ป.ป๊อด” เกือบทั้งหมด

และยังมีการเตรียมเสริมแกร่ง โดยเปิดประตูพรรครับ ส.ส. ของพรรคเศรษฐกิจไทย ภายใต้การนำของ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่เตรียมคัมแบ๊กบ้านหลังเก่าเร็วๆ นี้

ส่วนพรรคที่มีออร่าแจ่มจรัสที่สุดในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้น พรรคภูมิใจไทย ที่โชว์พลัง “โคตรดูด” ให้เห็นกันชัดๆ เพื่อเสริมทัพเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ชนิดที่ว่าไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ต่างก็โดนกันถ้วนหน้า จนทำเอา “บิ๊กป้อม” ถึงกลับต้องออกมาบอกตัดพ้อว่า “ก็เอาไปให้หมดเลยก็ได้ ผมไม่ว่าอะไร ผมจะได้ปิดพรรคเลย”

งานนี้คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย ในช่วงหลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางใด และจะส่งผลต่อสมการการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ปรับโฟกัสมาที่พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากจะเจอปัญหาเลือดไหลซิบๆ แล้ว ก็ยังเกิดปัญหาภายในขึ้นอีกระลอก จนฝุ่นตลบ หลังมีการปล่อยข่าวทุบบัลลังก์ของ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่งานนี้ดูบริบทแล้ว หาก 4 แกนอำนาจหลักของพรรค ทั้ง จุรินทร์-นิพนธ์ บุญญามณี-เดชอิศม์ ขาวทอง-เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยังคงจับมือกันมั่น สถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะสงบลงได้ในไม่ช้า

ขณะที่บรรดาพรรคใหม่หลายๆ พรรค ก็เริ่มออกอาการ “หนีตาย” กันชัดเจนมากขึ้น โดยที่น่าสนใจคือ พรรคสร้างอนาคตไทย ภายใต้การนำของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ออกอาการวงแตก หลังจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ตัดสินใจมูฟออนไปซบพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ขุนพลแดนอีสาน ภายใต้การนำของ สุพล ฟองงาม ก็เก็บกระเป๋าย้ายสำมะโนครัวไปพรรคภูมิใจไทย เพื่อแทคทีมเจาะฐานเสียงอีสาน สู้กับเพื่อไทย จนในที่สุด ทำให้ พรรคสร้างอนาคตไทย ต้องล้มดีลจับมือกับ พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นที่เรียบร้อย

ก่อนจะมีข่าวลือแว่วมาว่า พรรคสร้างอนาคตไทย กำลังเบนเข็มทิศการเมือง เปิดดีลกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ กรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคชาติพัฒนากล้า

ส่วนบรรดากลุ่มพรรคเล็ก-พรรคปัดเศษ ก็มีการขยับ “หนีตาย” ไม่แพ้กัน โดยมีแกนนำคนสำคัญอย่าง นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ออกมาประกาศการควบรวมพรรคเล็ก 20 พรรค ในรูปบบ อัมโน ตามหลักการไม้ซีกงัดไม้ซุง ทั้งนี้ ก็เพื่อสู้การเลือกตั้งภายใต้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบหาร 100

อย่างไรก็ตาม หากดูจากบริบทการเมืองและผลโพลในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า “ตัวเต็งทางการเมือง” ยังคงอยู่ที่ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่ามีโอกาส “เข้าวิน” สร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และยังดูเหมือนจะมีความพร้อมมากกว่าพรรคอื่น โดยล่าสุด มีการขนพลยกทัพลงภาคใต้ โดยมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาน ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่นำทีมปักธงรบที่นครศรีธรรมราช หวังต่อยอดเกมแลนด์สไลด์ พร้อมโชว์แหลงใต้ซื้อใจแฟนคลับกันอย่างคึกคัก และเตรียมเดินสายเปิดตัวผู้สมัครในอีกหลายจังหวัด

ทั้งหมดทั้งมวล หากเทียบดูแล้ว ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ การที่ “กลุ่มอำนาจเก่า” จะหวังกลับคืนสู่บัลลังก์อำนาจอีกครั้ง คงจะต้องไปคิดแก้เกมกันอีกเยอะพอสมควร ภายใต้โจทย์ใหญ่ที่ว่า “พี่น้อง 2 ป.” ต้องหันหน้าเข้าหากัน และผนึกกำลังกับ “เนวิน-อนุทิน” ถึงจะพอมีโอกาสลุ้นในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรการันตีว่าโมเดลดีลอำนาจภายใต้สมการนี้จะไปรอดหรือไม่

ท้ายที่สุด คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า “บิ๊กตู่” จะตัดสินใจอย่างไร และจะส่งผลต่อการเมืองไทยในช่วงหลังจากนี้มากน้อยแค่ไหน จะมีอะไรให้เซอร์ไพร้ส์อะไรหรือไม่…อีกไม่นานคงได้รู้กัน.