น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ผ่านทางระบบออนไลน์ Zoom meeting และ YouTube (live) ซึ่งจัดโดยกรมควบคุมโรค โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม คือ 1. สาธารณสุข ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกรมควบคุมโรค 2. ท้องถิ่น ได้แก่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ 3. ปศุสัตว์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์เขต และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกรมปศุสัตว์

น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ปัจจุบันสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยลดลงจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ได้ร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทำให้เกิดความชัดเจนในการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแบบบูรณาการของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี พ.ศ. 2568 ในส่วนของกรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดนโยบายหลักที่สำคัญ ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันทำงานให้เต็มศักยภาพ ตามสโลแกนที่ว่า ครอบครัวปศุสัตว์ “ทำด้วยใจ
    ทำให้ไว ทำได้จริง”
  2. ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน เน้นประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ เสนอข่าวให้รวดเร็ว ฉับไว เป็นประโยชน์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
  3. บูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน กำหนดให้ปศุสัตว์จังหวัดเป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงานในระดับพื้นที่ (LC : Livestock Coordinator) พร้อมมอบอำนาจให้ปศุสัตว์จังหวัดเป็นประธานการประสานงานกับหน่วยงานในจังหวัดทั้งหมด เพื่อสนับสนุนการทำงานและแก้ไขปัญหาโรคระบาด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการซึ่งมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน
  4. เน้นมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไขโดยเฉพาะการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน
  5. ควบคุมประชากรสัตว์ด้วยการผ่าตัดทำหมันในสุนัขและแมวอย่างน้อยปีละ 300,000 ตัว
  6. ซ้อมแผน Functional Exercise และเร่งรัดกำจัดโรคโดยเฉพาะในพื้นที่พบโรคสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี สงขลา ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี สมุทรปราการ และสระแก้ว

“จากการผลักดันอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จในระดับท้องถิ่นจำนวน 36 ท้องถิ่น และระดับอำเภอ จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ / อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี /และอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่จังหวัดที่ไม่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ ติดต่อกันมากกว่า 2 ปี จำนวน 36 จังหวัด คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เพื่อเป็นการส่งความสุขให้ประชาชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยงในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เครือข่ายสถานพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิชาชีพการสัตวแพทย์ องค์กรอิสระ ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง ได้ร่วมกันจัดทำโครงการผ่าตัดทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยได้ดำเนินการไปพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อเนื่องตลอดปี มีเป้าหมายรวมผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวจำนวน 300,000 ตัว ฝึกอบรมสร้างอาสาปศุสัตว์ขึ้นใหม่ และพัฒนาอาสาปศุสัตว์ที่มีอยู่เดิม ให้มีจำนวนครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยงแต่ละจังหวัดสามารถพาสัตว์เลี้ยงไปรับบริการได้ที่จุดให้บริการของแต่ละจังหวัด คลินิกรักษาสัตว์และโรงพยาบาลสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถตรวจสอบจุดให้บริการแต่ละจังหวัดได้จากเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์