วานนี้ (9 ม.ค. 2566) สเตฟาน ดูฌาร์ริก โฆษกสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ แถลงรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าของปัญหาช่องโหว่ชั้นโอโซนของบรรยากาศโลก โดยระบุว่า ชั้นโอโซนกำลังจะฟื้นตัวภายในระยะเวลา 4 ทศวรรษ 

ดูฌาร์ริก กล่าวอ้างถึงรายงานฉบับใหม่ซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งยืนยันว่า ผลจากการรณรงค์ให้งดใช้สารเคมีที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกตามแนวทางของพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนเกือบ 99% ของทั้งโลกได้ช่วยรักษาชั้นโอโซนได้สำเร็จ ทำให้เกิดการคืนตัวอย่างช้า ๆ ของโอโซนเหนือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ช่วยลดปริมาณรังสียูวีที่ส่งจากดวงอาทิตย์มายังพื้นโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก รวมทั้งทำให้พืชผลเสียหาย

ภาพช่องโหว่ชั้นโอโซนที่ใหญ่ที่สุดในชั้นบรรยากาศเมื่อปี 2543 (พื้นที่สีม่วง) อยู่บริเวณเหนือทวีปแอนตาร์กติกาในขั้วโลกใต้ มีขนาดใหญเกือบ 30 ล้านตาราง กม. หรือประมาณ 3 เท่าของขนาดสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเริ่มพิจารณาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น วิศวกรรมธรณี (Geoengineering) รวมถึงผลกระทบจากการใช้วิธีฉีดสารแอโรซอลสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratospheric Aerosol Injection) เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์และช่วยลดความร้อนบนพื้นโลก แต่อาจรบกวนอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการกำเนิดและการไหลเวียนของโอโซน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟื้นตัวของโอโซนนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่เดิม อัตราเฉลี่ยความหนาของชั้นโอโซนเหนือโลกอยู่ที่ 30 กม. ซึ่งเริ่มบางลงเรื่อย ๆ ในช่วงหลังยุคทศวรรษที่ 1980 

ตามข้อมูลในรายงาน คาดว่า ชั้นโอโซนจะกลับไปมีความหนาแน่นเท่าเดิมราวปี 2583 ขณะที่จุดที่โอโซนเบาบางที่สุดจนเกิดรอยโหว่ขนาดนั้นเหนือทวีปแอนตาร์ติกาในขั้วโลกใต้นั้น จะกลับฟื้นคืนตัวอย่างสมบูรณ์ในปี 2609 หรืออีก 43 ปีข้างหน้า.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES