นครสวรรค์หรือเมืองปากนํ้าโพ จัดเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ ชาวจีนหลายเชื้อสายที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน จะอาศัยอยู่ตามริมแม่นํ้าน่าน เรียกว่า “แควใหญ่” และ บริเวณ “ต้นแม่นํ้าเจ้าพระยา” คือ “ตลาดปากนํ้าโพ” ซึ่งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก
บรรพบุรุษของชาวจีนนับถือเทพเจ้า เมื่อมาตั้งรกรากที่ใด ได้อัญเชิญเอาเทพเจ้าที่ตนนับถือติดตัวมาด้วย ชาวจีนในตลาดปากนํ้าโพก็เช่นกัน พากันนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าพ่อกวนอู-เจ้าแม่ทับทิม-เจ้าแม่สวรรค์ เป็นจุดรวมของสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานที่มีชาวจีนอาศัยอยู่
การจัดงานครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากนํ้าโพ ประจำปี 2565-2566 (เถ่านั้ง107) กำหนดจัดงานเต็มรูปแบบ มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งกลางวันและกลางคืน การแสดงขบวนนางฟ้าจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การแสดงคณะมังกรทอง การแสดงสิงโต 5 ชาติพันธุ์ 5 คณะ สิงโตปักกิ่ง สิงโตกว๋องสิว สิงโตไหหนำ สิงโตฮกเกี้ยน สิงโตฮากกา ดนตรีจีนล่อโก้ว รำถ้วยไหหนำ เอ็งกอ-พะบู๊ องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม และลูกศิษย์ กิมท้ง-เง็กนึ่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย
ภายในงานจะมีกิจกรรมและการแสดงของเหล่าศิลปินนักร้องมากมาย ที่พร้อมมอบความสนุกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานตรุษจีนตลอดทั้ง 12 วัน 12 คืน ร่วมไหว้เจ้าขอพรองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ศาลเหนือ และศาลใต้ ทำบุญลานแก้ชง ปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์ เสริมบารมี ร่วมสนุกกับของรางวัลสุดพิเศษกับกิจกรรมถ่ายภาพเช็กอิน การจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ รอบวัดโพธารามพระอารามหลวง สวรรค์นักชิม ไม่ตํ่ากว่า 100 บูธ พร้อมทั้งมหรสพ งิ้ว ชมฟรีตลอดงาน
งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากนํ้าโพ และงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน จังหวัดนครสวรรค์ ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-26 มกราคม 2566 รวม 12 วัน 12 คืน ชมขบวนแห่กลางคืน (ชิวซา) ในวันที่ 24 มกราคม 2566 และขบวนแห่กลางวัน (ชิวสี่) ใน
วันที่ 25 มกราคม 2566 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook Fanpage : ททท.สำนักงานนครสวรรค์ : นครสวรรค์-พิจิตร
มาถึงนครสวรรค์แล้ว อย่าลืมแวะไปเช็กอินที่ “พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่นํ้าเจ้าพระยา แลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่เกิดจากความตั้งใจในการสื่อความหมายของคำว่า “ผสาน” จากจุดกำเนิดของแม่นํ้าปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่นํ้าเจ้าพระยา
แล้วไปสักการะ “ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม” ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและเป็นจุดรวมนํ้าใจของชาวบ้าน รวมทั้งผู้สัญจรทางนํ้าที่ผ่านไปมา และบริเวณนี้ ยังเป็นจุดชมต้นแม่นํ้าเจ้าพระยาได้ชัดเจนที่สุด
ก่อนจะแวะไป “วัดคีรีวงศ์” สักการะพระจุฬามณีเจดีย์ องค์มหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครสวรรค์ ภายในเจดีย์ขนาดใหญ่แห่งนี้ มีทั้งหมด 4 ชั้น ด้านหน้าบนฐานชั้นแรก เป็นที่จุดธูปเทียนบูชา ส่วนชั้นที่สอง จะมีรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริงของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทย ชั้นที่สาม ด้านนอกจะพบรูปเหมือนหลวงพ่อมหาบุญรอด ชั้นที่สี่ ที่เป็นจุดชมวิวเมืองนครสวรรค์ในมิติพาโนรามากว้างไกลสุดตา
นอกจากนครสวรรค์แล้ว เชียงใหม่จังหวัดยอดนิยมของพี่น้องชาวจีนเอง ก็มีการจัดงาน “เทศกาลไชน่าทาวน์เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 20” ด้วย ณ ย่านตรอกเล่าโจ๊ว ย่านชุมชนจีนเก่าแก่ที่วันนี้ รู้จักกันในชื่อเล่นว่ากาดม้งด้วย เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าแฮนด์เมดของชนเผ่าอย่างม้ง และอาจจะมีของเผ่าอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย
ตรอกเล่าโจ๊วเป็นย่านตลาดเก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี อยู่ในย่านตลาดวโรรส บ้างเรียกกันว่า “กองหล่อ” ชื่อที่อธิบายถึงลักษณะของภูมิประเทศ โดย “กอง” ภาษาเหนือแปลว่า ตรอกหรือซอย ส่วน “หล่อ” แปลว่า ลาดลง เนื่องจากสภาพทางที่ลดลงมาจากถนนท่าแพไปยังถนนช้างม่อย ส่วนชื่อเล่าโจ๊วนั้น บ้างว่าเพี้ยนมาจากภาษาจีนคำว่า “เหล่าจง” หมายถึงบรรพบุรุษผู้อาวุโสชาวจีนที่มาตั้งรกรากในย่านนี้ บ้างก็ว่าเล่าโจ๊ว หมายถึงศาลเจ้าในภาษาจีนนั่นเอง ซึ่งน่าจะหมายถึงศาลเจ้ากวนอู “บู่เบี้ย” ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่อยู่คู่กับตรอกเล่าโจ๊วมาเนิ่นนาน
เทศกาลไชน่าทาวน์เมืองเชียงใหม่ นอกจากจะมีการประดับโคมจีนสีแดงแล้ว ยังมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน การแสดงมังกรขึ้นเสาและสิงโต ซุ้มถ่ายรูปบรรยากาศย้อนยุค มหกรรมอาหารนานาชนิด การประกวด Miss China Town และขบวนแห่สามล้อตรุษจีน
มาเที่ยวเชียงใหม่ช่วงตรุษจีน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ นอกจากจะต้องสวมชุดแดงตามสีของเทศกาลแล้ว ลองแวะไปเที่ยวสวนส้ม ผลไม้มงคลของตรุษจีนด้วย แนะนำ “สวนส้มจินจู” อยู่จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สวนส้มที่ตกแต่งสไตล์เกาหลี มีมุมให้ถ่ายภาพได้ทุกมุม แถมยังมีนํ้าส้มรสชาติเข้มข้นที่คั้นสด ๆ ให้บริการด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บส้มเองในสวนได้อีก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
อีกแห่งคือ “สวนของฉัน” (My Garden) สวนส้มเจ้าแรกบนม่อนแจ่ม มีพื้นที่กว้างกว่า10 ไร่ มองไปทางไหนก็มีแต่ต้นส้ม จะเลือกนั่งใต้ต้นส้มรับลมเย็น ๆ แบบได้ฟีลเจ้าของสวนส้ม หรือจะเลยไปถ่ายรูปแถวแปลงดอกไม้ เลือกได้ตามอัธยาศัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
ส่วนใครที่ชื่นชอบทุ่งดอกไม้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา นอกจาก “I Love Flower Farm” สวนดอกไม้ใกล้เมืองเชียงใหม่แถวแม่ริม ที่มาพร้อมคอนเซปต์กระจายรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการจัดเมนูขนมไทยจากฝีมือชาวบ้านในพื้นที่ และบริการรถรับส่งโดยคนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลบอลลูนท่ามกลางสวนดอกไม้ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสุดโรแมนติก เปิดให้เข้าชมตั้งแต่พฤศจิกายน 2565-15 มีนาคม 2566 ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
ขยับไปอีกนิดที่ม่อนแจ่ม “ป้างฮวา @ม่อนแจ่ม” เที่ยวที่เดียว ได้ 2 บรรยากาศ ได้ทั้งสวนดอกไม้ กับทุ่งดอกมากาเร็ตสีชมพูม่วง และสวนส้ม สายพันธุ์ฟรีมองต์ ที่สามารถหิ้วตะกร้าเดินเก็บส้มเองในสวนได้ตามอัธยาศัย ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพฟรี อาทิ รองเท้าบู๊ต ตะกร้าดอกไม้ ตะกร้าสะพายหลัง และอื่น ๆ อีกมากมาย แถมด้วยจุดชมวิวจากหอคอยสูงให้ได้ชมบรรยากาศทิวทัศน์ภูเขาล้อมรอบสวน จุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในย่านอำเภอแม่ริม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบทรงพุ่มของดอกไฮเดรนเยีย ต้องไปที่ “โครงการหลวงขุนแปะ” ที่จะบานสะพรั่งกลางหุบเขากว่า 200 ไร่ ดอกไฮเดรนเยียหลากสีพร้อมจะโพสท่าสวย ๆ คู่ และยังสามารถอุดหนุนชาวบ้านซื้อดอกไฮเดรนเยียกลับไปปักแจกันที่บ้าน หรือระหว่างทางไป จะแวะถ่ายรูปกับนาขั้นบันไดสุดลูกหูลูกตาได้อีกด้วย เปิดให้เข้าชมช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์
สุดท้ายที่ “ไร่ดอกลมหนาว” สวนดอกเวอร์บีน่าบนเนินเขาที่ตั้งอยู่บนม่อนแจ่ม จุดชมวิวบนยอดเขาที่สวยงาม ซึ่งมองเห็นหุบเขาแม่ริมและไร่โครงการหลวงได้อย่างชัดเจน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.