เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เห็นชอบกรณีที่สำนักงาน กกต.เสนอแผนงานการจัดทำโปรแกรมการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบออนไลน์ และการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการตามที่ก่อนหน้านั้นสำนักงานฯ ได้มีประสานและได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการสร้างระบบนานเกือบปีจนแล้วเสร็จ
โดยมีรายงานว่าที่ประชุม กกต. ไม่เชื่อว่าระบบที่มีการจัดทำขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในอดีตที่ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งถ้า กกต.เห็นชอบให้สำนักงานดำเนินการตามที่ขอหากเกิดปัญหาขึ้น ก็จะกลายเป็นสิ่งที่มัดตัว กกต.เพราะเป็นระบบของสำนักงาน กกต. ขณะเดียวกันงบในการจัดทำราว 20 ล้านบาทก็สูงเกินไป
“กกต.ระบุว่า คราวเลือกตั้งปี 62 ที่สำนักงานฯ ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.ทำระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอพพลิเคชั่น Rapid Report แต่พอเกิดปัญหาระบบรายงานผลล่ม มีการโจมตีระบบ ก็ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบ กลายเป็นปัญหามาตกหนักที่ กกต.” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้หลัง นายแสวง บุญมี ได้รับแต่งตั้งเป็น เลขาธิการ กกต. เคยระบุถึงนโยบายเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปที่จะเกิดขึ้นกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในปี 66 ว่า นอกจากระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว จะเป็นจะพยายามนำใบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต หรือ ส.ส. 5/18 ที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ติดประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีการนับคะแนนเสร็จสิ้น เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อความโปร่งใส ให้ผู้สมัครและประชาชนตรวจสอบได้
ขณะเดียวกัน กกต.มอบนโยบายให้สำนักงานหารือกับทางสื่อมวลชนเพื่อขอความร่วมมือในการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเพราะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สื่อสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี แต่เมื่อสำนักงานฯ หารือกับตัวแทนสื่อได้รับแจ้งว่าด้วยจำนวนหน่วยเลือกตั้งตั้งเกือบ 1 แสนหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ สื่อมีกำลังคนไม่พอ ต่างจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีหน่วยเลือกตั้งราว 6 พันหน่วยเลือกตั้ง และการรายงานผลการเลือกตั้งของสื่อก็ใช้วิธีการสุ่มราว 2 พันหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ทางสำนักงานฯ จึงได้มีการประสานไปยัง สพร. แต่ได้รับแจ้งว่าไม่พร้อมเช่นกัน จนมีการติดต่อไปยัง สจล. ซึ่งเข้ามาศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่าง ของการรายงานผลการเลือกตั้งในครั้งก่อน และสร้างระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการขึ้นใหม่ โดยการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ราว 10 ล้านบาท
ขณะเดียวกันทางสำนักงานฯเห็นว่าขณะนี้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีการแก้ไขให้สามารถรับสมัครแบบออนไลน์ได้จึงได้ขอให้มีการทำระบบการรับสมัครเลือกตั้งแบบออนไลน์ขึ้นเพื่อเป็นการอำนวยคามสะดวกให้กับผู้สมัคร และเป็นการเตรียมไว้กรณีหากเกิดปัญหาการปิดล้อมสถานที่รับสมัครเช่นอดีต โดยส่วนนี้ก็จะใช้งบประมาณอีกราว 10 ล้านบาท แต่ที่สุดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 33 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร ว่า ทาง กกต.กทม. ได้เตรียมความพร้อมโดยมีการแบ่งรูปแบบเขตเลือกตั้งไว้หลาย 3 รูปแบบ แต่ยังไม่สามารถประกาศเผยแพร่ได้ ต้องรอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้บังคับ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และประชาชน จากนั้นเสนอที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป.