เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ประกอบมาตรา 7(2) มาตรา 41 (4) และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และข้อ 15 ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 โดยในการยื่นคำร้องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นประมาณ 30 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระยะเวลากระบวนพิจารณาคดีของศาลรัฐธรนมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องให้คณะตุลาการหรือศาล ภายใน 2 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง จากนั้นศาลพิจารณาและมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้องภายใน 5 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้อง

ทั้งนี้ หากศาลรับคำร้องไว้พิจารณา ในกรณีคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ในการดำเนินกระบวนพิจารณา หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดยทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้ โดยในกรณีที่ศาลทำการไต่สวน จะมีการประกาศกำหนดวันนัดไต่สวน จากนั้นศาลจะออกนั่งพิจารณาและไต่สวนพยาน หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จะยุติการไต่สวน หลังจากนั้นศาลจะประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย จากนั้นตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคน ต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม จากนั้นให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วจึงลงมติ เมื่อศาลมีมติแล้ว องค์คณะจะมอบหมายตุลาการคนหนึ่งคนใดเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาล หลังจากนั้นจะมีการแจ้งแก่ผู้ร้อง
ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 มาตรา 212 มาตรา 213 หรือมาตรา 231(1) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล จัดทำประกาศผลแห่งคำวินิจฉัยของศาล ส่งไปประกาสในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว.