เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 วาระที่สองฉบับใหม่ที่ กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้เข้าสู่วาระการพิจารณา มาตรา 91 โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ฉบับคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ระบุว่า การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะได้รับเลือกตั้งให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณ เพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับ หมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเหตุผลการแก้ไขวิธีการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้นำคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรค การเมืองได้รับมารวมกันทั้งประเทศ เพื่อคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงได้รับ ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เนื่องจากในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขสามารถดำเนินการตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้ง่ายกว่าการนำมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้ยาก

โดยภาพรวมการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตาม กมธ.เสียงข้างมาก เว้นแต่ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ ส.ว.บางส่วน โดยใช้เวลาการอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมง ท้ายที่สุดที่ประชุมลงมติแก้ไขมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเสียงข้างมาก 435 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมากต่อ 76 เสียง และงดออกเสียง 85 เสียง

จากนั้นเวลา 20.10 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สลับทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณามาตรา 4/1 ที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ ระบุว่าในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาบังคับใช้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยมาตรานี้ไม่มีผู้อภิปราย ที่ประชุมจึงลงมติเห็นด้วยตามที่กรรมาธิการเสนอด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ถือว่าพิจารณาเรียงลำดับตามมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการพิจารณาเสร็จสิ้นในวาระ 2

ต่อมาเวลา 20.22 น. ภายหลังการพิจารณาในวาระ 2 เสร็จสิ้นลง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. กล่าวว่า ในนามของ กมธ.ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภา ที่ได้พิจารณารายงานของกมธ.และลงมติเห็นชอบต่อร่างมาตรการต่างๆ ตามที่ กมธ.แก้ไข ในวาระ 2 ซึ่งหวังว่าในการพิจารณาวาระที่ 3 จะได้ลงมติเห็นชอบจะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม เมื่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมในวาระที่ 2 เสร็จสิ้นลงแล้วให้ รอไว้ 15 วัน  เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป และสั่งปิดประชุมในเวลา 20.23 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 คือวันที่ 10 ก.ย. 64