เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่อาคารวิริยะถาวร นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยถึงการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ยืนยันว่า จากการพิจารณาเอกสารเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (TOR) ก่อนเข้าร่วมการประกวดราคา (ประมูล) เห็นแล้วว่ากติกาประมูลก็ปกติ ให้ก่อสร้างและเดินรถด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดย รฟม. ให้เอกชนเสนอขอมาว่าการก่อสร้างจะให้รัฐสนับสนุนท่าใด และการเดินรถจะแบ่งผลตอบแทนให้รัฐอย่างไร ซึ่งก็นำทั้งสองส่วนนี้มารวมกันจนได้ผลประโยชน์สุทธิ ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิสูงกว่าก็เป็นผู้ชนะไป ไม่เห็นมีอะไรซับซ้อน

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเงื่อนไขการประมูล อาทิ ต้องมีผลงานก่อสร้างสถานีทั้งใต้ดิน และลอยฟ้าหรือลอยฟ้า TOR ระบุชัดว่าไม่ใช่ต้องมีผลงานใต้ดินอย่างเดียว ขณะที่ผลงานต้องเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น เป็นอุโมงค์ระบายน้ำก็ได้ ขณะเดียวกัน TOR ก็ไม่ได้ระบุด้วยว่า ต้องเป็นรายเดียวที่มีผลงานครบทุกด้าน ดังนั้นหากขาดผลงานด้านใดก็สามารถรวมกลุ่มกันมาได้ ซึ่งในส่วนของ ช.การช่างทำงานด้านเหล่านี้มากว่า 40 ปี จึงมาร่วมกับ BEM รายเดียวได้ ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้กำหนด TOR เพื่อ BEM หรือ ช.การช่างเท่านั้น เป็นกติกาที่ปกติ และเปิดกว้าง ซึ่งเราก็เข้าแข่งขัน และทำตามกติกา ต้องขอความเป็นธรรม และขอกำลังใจให้เราด้วย
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอที่ BEM เสนอให้กับรัฐนั้น ประกอบด้วย ขอสนับสนุนค่าก่อสร้าง 91,500 ล้านบาท ส่วนการเดินรถ BEM เสนอจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 ส่วน และคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Net Present Value : NPV) แล้ว จะเป็นผลประโยชน์สุทธิที่ -7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาต่อรองเพื่อลดราคาลงอีก แต่ BEM ยืนยันกลับว่าไม่สามารถลดได้จริง ๆ เพราะค่าก่อสร้าง วงเงิน 9 หมื่นกว่าล้านบาท รฟม. ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 61 แต่ปัจจุบันราคาเหล็ก น้ำมัน และแรงงานเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงยืนยันราคาที่เสนอไป

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อ BEM ไม่สามารถลดราคาลงได้อีก คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงเจรจาขอให้เพิ่มข้อตกลง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ BEM ตรึงราคาค่าโดยสารเท่ากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ณ ปีที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 17-42 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็น BEM ต้องรับภาระให้รัฐอีก 1 หมื่นกว่าล้านบาท จากนั้นปีที่ 11 จึงจะคิดค่าโดยสารในอัตราที่กำหนดตามสัญญาสัมปทาน เริ่มต้นที่ 20-50 บาท และ 2.ให้ BEM เข้ามารับภาระค่าดูแลรักษา (Care of Work) ส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายหลังจากที่ รฟม. ตรวจรับมอบงานก่อสร้างส่วนตะวันออก และส่งมอบพื้นที่ให้กับ BEM ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง BEM ยินดีรับทั้ง 2 ข้อตกลง ดังนั้นการที่บอกว่าขอเยอะไป ทำให้รัฐเสียหายเยอะ ต้องขอความเป็นธรรมกับเราด้วย
“BEM ไม่ได้อยากออกมาโต้เถียงกับใคร และไม่ได้นำข้อมูลออกมาหักล้างใคร เราเคารพความเห็นที่แตกต่างกัน การออกมาครั้งนี้ต้องการยืนยันให้สังคมสบายใจ ซึ่งเราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา และเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับรัฐ ที่ผ่านมาทุกโครงการที่ ช.การช่างดำเนินการ ไม่เคยโดนปรับ ไม่เคยดีเลย์ สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานทุกโครงการ ไม่มีปรับแผนงานไปเรื่อย BEM และ ช.การช่าง มีสปิริตบอกว่าจะเปิดก็ต้องเปิดบริการให้ได้ เราเชื่อมั่นว่าเราทำถูกต้อง และ TOR ก็เปิดกว้าง เป็นธรรม ซึ่งการที่มาบอกว่า TOR เอื้อ BEM กับ ช.การช่าง ไม่เป็นความจริง เป็นการแข่งขันตามกติกา ส่วนที่มีข้อมูลว่าเอกชนอีกรายเสนอขอสนับสนุน 9 พันล้านบาท ถ้าเข้าประมูลแข่งขัน แล้วทำได้จริง ผมก็ยอมรับ ซึ่งใครยังจะเชื่อว่า 9 พันล้านบาทสามารถดำเนินโครงการได้ ก็แล้วแต่ไม่เป็นไร” นายพงศ์สฤษดิ์ กล่าว

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า ไม่ได้รู้สึกกังวลใดๆ เวลานี้ก็รอการอนุมัติให้ลงนามสัญญา ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนเราก็รอ หากเคาะอนุมัติ และลงนามสัญญาได้ BEM และ ช.การช่าง พร้อมทำงานทันที เงินทุนมีครบหมดแล้ว และเชื่อมั่นว่าเราทำได้จริง สำเร็จจริง คุณภาพดีจริง ทำได้ตามที่พูด อย่างไรก็ตามตั้งเป้าหมายไว้ว่า หากได้ลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะสั่งซื้อรถไฟฟ้าทันที โดย รฟม. ตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องสามารถให้บริการเดินรถได้ภายหลังลงนามสัญญาประมาณ 3 ปีครึ่ง ซึ่งเราคิดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนกำหนด จะใช้เวลาแค่ 3 ปี หรือประมาณปี 69 เปิดเดินรถส่วนตะวันออก หรืออาจจะเปิดให้บริการเร็วกว่านั้น แต่จะเป็นการทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วง ๆ จากนั้นในปี 72 จะเปิดครบตลอดทั้งสาย ทั้งส่วนตะวันออก และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเปิดโปงข้อมูลการทุจริตโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า นายชูวิทย์ไม่ได้กล่าวหาบริษัท อาจจะมีพาดพิงมาบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไร นายชูวิทย์ อาจจะเข้าใจแบบนั้น เราก็มีหน้าที่ต้องอธิบายว่าไม่ใช่มีรายเดียวที่เข้าประมูลได้ ถ้านายชูวิทย์ยังเข้าใจแบบเดิมก็ห้ามเขาไม่ได้ คงดูไปก่อน อย่างไรก็ตาม ช.การช่าง เข้าร่วมประมูลงานมากว่า 40 ปีแล้ว เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะ ก็ว่ากันไป ขอให้เคารพกันดีกว่า ส่วนเรื่องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยังรอคำพิพากษาของศาลฯ โดยเฉพาะคดีการยกเลิกประมูลนั้น รู้สึกเฉย ๆ ที่ผ่านมามีเป็นหมื่นโครงการที่ล้มประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่ ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม เมื่อล้มประมูล และคืนซองข้อเสนอกลับมาแล้ว ทุกอย่างก็จบ เมื่อเปิดประมูลใหม่ก็ลงแข่งขันกันใหม่ จะมีใครฟ้องก็ว่ากันไป.