เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวถึงการนอนหลับ เนื่องในวันนอนหลับโลก 10 มี.ค. ว่า การนอนหลับที่เพียงพอ ตลอดจนคุณภาพการนอนหลับที่ดี มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรามาก เพราะการนอนหลับทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ระบบไหลเวียนของเลือดดี ความจำดี มีสมาธิดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากปัญหาการนอนไม่หลับที่พบมากในผู้สูงอายุ กว่า 30-40% หรือคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดีแล้ว ยังพบว่าบางส่วนมีปัญหา “ไม่ยอมหลับ ไม่ยอมนอน” ซึ่งจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก

“ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพการนอนที่ดี ข้อหนึ่งคือการที่เราต้องอยู่ในที่ที่ค่อนข้างมืด สงบ จะทำให้คุณภาพการนอนนอนได้ดี แต่หากมีการใช้สายตา มีการใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา จะเกิดสิ่งกระตุ้นตลอด การเอามือถือวางข้างตัว มีเสียงปรี๊ดขึ้นมาทีหนึ่ง ก็สะดุ้งตื่น ทำให้คุณภาพการนอนที่ไม่ดี ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับการใช้เตียง ว่าเตียงมีหน้าที่สำหรับการนอนเป็นหลัก ไม่แนะนำให้ขึ้นเตียงปุ๊บแล้วเอามือถือ หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปอ่าน เพราะไปกระตุ้นให้เราหลับยาก แนะนำใช้เตียงเมื่อง่วง และต้องการขึ้นนอนเท่านั้น” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว  

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวต่อว่า การไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน นั้น อยากที่บอกว่าการนอนหลับ เป็นการพักผ่อนร่างกายให้มีพลัง รู้สึกชดชื่นในวันถัดไป หากไม่หลับไม่นอน จะทำให้ไม่สดชื่นในวันถัดไป เพลีย วิงเวียนศีรษะ ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี สมาธิสั้นลง ส่วนจะสะสมทำให้เกิดโรคอะไรในอนาคตหรือไม่นั้น คงชี้ไม่ได้ 100% ว่า จะทำให้เกิดโรคนั้นโรคนี้ชัดเจน แต่มีโอกาสทำให้มาพบแพทย์ด้วยปัญหาวิงเวียนศีรษะ รวมถึงการนอนจะทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี มีความสมดุลขึ้น หากมีปัญหาเรื่องการนอน คุณภาพการนอนไม่ดี ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไร ก็จะกระทบกับระบบการไหลเวียนของหลอดเลือด เส้นเลือดมีปัญหา ปัญหาเส้นเลือดหัวใจ มีปัญหาไต เมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้น คำแนะนำสำหรับการมีคุณภาพการนอนที่ดีสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะทำให้ความจำดี สมาธิดี ต้องกำหนดให้ชัดว่า เตียงมีไว้นอนเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้หลับยาก ควรออกกำลังกายทุกวัน จะทำให้กลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน ห้องต้องมืด ลด แสง สี เสียง ที่รบกวนการนอน.