เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัทฯ เปิดเผยว่า ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง, สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 72 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางสิ้นสุดพร้อมกันในปี 85 ทำให้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของบริษัทฯ มาก ยืนยันว่า บริษัทฯ ทำเรื่องนี้อย่างถูกต้อง แต่เป็นความถูกต้องที่รัฐบาลพยายามทำอะไรบางอย่าง ส่วนตัวเรียกว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วง ผู้ถูกกล่าวหาฟ้องกลับแน่นอน

นายคีรี กล่าวต่อว่า ตนเป็นคนชอบสู้ และเป็นคนที่ยอมไม่ได้ อะไรที่ไม่ถูกต้องยิ่งต้องสู้ ซึ่งประวัติการทำงานของตนที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการใหญ่ ๆ มากมาย ไม่มีอะไรที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่เคยมีมลทิน ซึ่งตนสนใจลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน เพราะอยากทำประโยชน์เพื่อชาติ และประชาชน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อว่าเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์จริง ๆ กับประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งโครงการนี้ เป็นความคิดของ นายจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ 

 “ผมเห็นแล้วว่า กทม.ในยุคนั้นมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ บริษัทจึงได้เข้าประมูลโดยยอมลงทุนเองทั้งหมด 100% ส่วนการว่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายนั้น บริษัทฯ ก็เข้ามาช่วยวิ่ง มิฉะนั้นใครจะมาวิ่ง เพราะตอน กทม.เปิดประมูล ไม่มีใครโผล่มาเข้าประมูลสักคน ดังนั้น บีทีเอสก็ต้องเดินรถข้ามไปส่วนต่อขยาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม วันนี้ กทม.ยังติดหนี้ค่าจ้างเดินรถอยู่ ถาม กทม.ไปก็บอกเรื่องอยู่กระทรวงมหาดไทย ยังรอรัฐบาล เมื่อถามไปที่รัฐบาลก็บอกว่ารอคำตอบ กทม. อยู่ เลยไม่รู้ว่าวันไหนจะจัดการเรื่องนี้ ซึ่งปัญหาของเรื่องนี้ มันเริ่มจากผมไปประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็เริ่มแย้งเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อจัดการหนี้สินทั้งหมดที่อยู่ โดยวันนี้สิ่งที่ผมต้องการคือ เอาเงินที่ติดหนี้สินอยู่ 5 หมื่นล้านบาทคืนมา” นายคีรี กล่าว

นายคีรี กล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เดินรถอยู่ทุกวันนี้ มาจากเงินต้นทุนของบีทีเอส ไม่ใช่เงินรัฐบาล แต่วันนี้ รัฐบาลไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งกำลังทำให้เอกชนอ่อนแอ จนไม่สามารถเดินรถต่อได้ แต่ขอยืนยันว่า วันนี้บีทีเอสยังแข็งแรง จะไม่หยุดเดินรถจนกว่าจะไม่ไหวจริง ๆ หากถึงวันนั้นจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัว และผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงรัฐบาลต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันอีกครั้งว่า บีทีเอสจะเดินรถต่อไป จะไม่เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เพราะถ้าหยุดเดินรถ ผู้ที่มีอำนาจไม่ได้เดือดร้อน แต่ประชาชนจะลำบาก เดินทางไม่สะดวก ซึ่งวันนี้อยากถามว่า มีบริษัทไหนในโลกที่ให้รัฐติดหนี้ถึง 5 หมื่นล้านบาท คงมีบีทีเอส เป็นคนบ้าอยู่คนเดียว เพราะเราห่วงผู้โดยสาร ดังนั้น จึงต้องสู้

ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทฯ กล่าวว่า เรื่องส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในเวลานี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 43 ที่มีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติทำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีรูปแบบลงทุนเหมือนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักที่เอกชนลงทุนทั้งหมด 100% โดย ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 43 ปรากฏว่าเมื่อ กทม. เปิดประมูล กลับไม่มีผู้เข้าประมูลทาง กทม.จึงเสนอ ครม.ขอเจรจากับบีทีเอส ซึ่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.43 จึงถือว่า กทม.ไม่ได้ทำเองโดยพลการ แต่จากการเจรจา บีทีเอสไม่สามารถที่จะลงทุนเองทั้งหมด 100% ได้ ต้องการให้รัฐสนับสนุนเหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ทาง กทม.จึงแจ้ง ครม.ว่า ไม่สามารถหาผู้ลงทุนได้ ซึ่งก็คิดว่าน่าจะยุติลงไปแล้ว

จากนั้น กทม.ก็เริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายเอง และเมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ต้องหาผู้เดินรถ ซึ่ง กทม.ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้ข้อสรุปว่าการที่ กทม.มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถ ไม่ถือว่าต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ทาง กทม.จึงเชิญบีทีเอสไปยื่นข้อเสนอดำเนินการส่วนต่อขยาย และลงนามสัญญาเมื่อเดือน พ.ค. 55 ในขณะนั้นมี ส.ส.ไปร้องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ป.ป.ช. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานก็เข้ามาสอบสวนบีทีเอส และผู้บริหาร จนได้ข้อสรุปว่า บริษัทไม่มีความผิด ขณะที่ สำนักงานอัยการสูงสุดก็เห็นควรไม่ฟ้องบีทีเอส ซึ่งบริษัทฯ ก็คิดว่าเรื่องยุติไปแล้ว จนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 66 ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหามายังบริษัทฯ และเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 66 ก็มีการเผยแพร่ข่าวที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา

ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า มีการนำเอกสารสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.มาเผยแพร่ให้สื่อมวลชนได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเอกสารลับ และเรื่องนี้ทำกันมาตั้งแต่ปี 55 ล่วงเลยมาเกือบ 11 ปีแล้ว หลายข้อหาขาดอายุความไปแล้ว เหตุใดการแจ้งข้อกล่าวหาถึงมาเกิดในช่วงเวลาที่ นายคีรี และบริษัทฯ ต่อสู้เรื่องความไม่ชอบมาพากลของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รับไม่ได้เลยคือ นำเอกสารในสำนวนการสอบสวนมาให้สื่อโดยมีเป้าหมาย ต้องตั้งคำถามใครเป็นคนนำออกมา และมีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่ข้อกล่าวหาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า วันจันทร์หุ้นบีทีเอสตกหนักมาก ต้องการทำลายบีทีเอสใช่หรือไม่ ซึ่งประธาน ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้

“การกระทำที่ไม่ชอบมาพากล และเกิดความเสียหายกับบุคคลหนึ่งใด เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง คนที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ต้องมาตอบสังคมให้ได้ วันนี้บีทีเอสถูกกระทำได้ถึงขนาดนี้ ประชาชนคนไทยจะเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบของประเทศนี้ได้อย่างไร” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวและว่า ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. เพื่อถามถึงรายละเอียดว่าบริษัททำอะไรผิด ที่ไหน อย่างไร กับใคร เราต้องการสาระสำคัญ และพฤติการแห่งคดีว่าบริษัททำผิดอย่างไร เพราะที่ส่งข้อกล่าวหามา มีแต่การบรรยายการกระทำของเจ้าหน้าที่เท่านั้น.