นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทของกระทรวงการคลัง และเพื่อลดภาระให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซล โดยจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรไปพลางก่อน มีผลวันที่ 20 เม.ย. และอาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาเป็นแบบขั้นบันได เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนทำให้ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ติดลบไปแล้วกว่า 103,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท

ปัจจุบันมีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.77 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นเงินประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากไม่มีการชดเชย ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อลิตร และหากปล่อยให้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในระดับเดิมต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้กองทุนฯ ติดหนี้เพิ่มมากขึ้นอาจจะกระทบกับวินัยการเงินและระดับความน่าเชื่อถือของกองทุนฯ ได้

“ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ได้ช่วยลดราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่เนื่องจากการชดเชยราคาน้ำมันที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ติดลบกว่า 103,000 ล้านบาทแล้ว วันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซล ภายหลังจากหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 บาทในวันนี้ โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร และในอนาคตอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบขั้นบันได เนื่องจากสถานะกองทุนฯ มีหนี้คงค้างค่อนข้างสูง อีกทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งในวันนี้ อาจส่งผลทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจะพยายามรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงภาระของประชาชนเป็นหลัก แต่ก็ต้องพิจารณาถึงภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปพร้อมกันด้วย และเตรียมหามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า” นายวีรพัฒน์ กล่าว