ที่ผู้ใหญ่ลือกันว่าโลกเดือด Global Boiling มันจะทำให้เกิดหายนะมากมายใช่ไหมคะคุณแม่ แล้วหนูจะอยู่อย่างไร อีกหน่อยเวลากลางวันหนูจะอยู่นอกบ้านได้อีกไหม คุณแม่ไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงบอกให้ ด ญ. อ. หยุดซ้อมเปียโนสักพักแล้วลองเขียนจดหมายถามคุณหมอมาร์ค

ด ญ. อ.: คุณหมอมาร์คคะ หนูชื่อ อ. เป็นเด็กชาววัง ที่โรงเรียนหนูมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่บ้านก็มีต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงา ตอนหนูเด็ก ๆ
รู้สึกว่าอากาศเย็นกว่านี้มาก ในวันสงกรานต์แม้อากาศร้อน แต่ก็มีลมพัดผ่านนํ้าที่สาดกันก็เย็นสบาย ลดความร้อนไปได้ แต่ปีนี้ทำไมมันร้อนขึ้นมากคะ แม้อยู่ในร่มเงาของต้นไม้ก็มีแต่ลมร้อนผ่าวพัดมา พอสาดนํ้าเล่นสงกรานต์กันก็รู้สึกว่านํ้าอุ่นผิดปกติ หนูเกิดวิตกจริตว่าถ้าโลกร้อนขึ้นมากแบบนี้ พอหนูโตขึ้น หนูจะอยู่ไม่ได้ โลกอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่น่ากลัวมาก คุณหมอมาร์ค ช่วยเล่าความจริง อย่าหลอกให้หนูดีใจได้ไหมคะ

คุณหมอมาร์ค : น้อง อ. คะ ที่ตกใจกลัวถูกต้องแล้วคะ เราอยู่ในยุควิกฤติแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก สมมุติว่าน้อง อ. เป็นกบน้อย ที่เขาเอาใส่กระทะนํ้าเย็น แล้ววางบนเตาให้ค่อย ๆ ร้อนขึ้น ทีละน้อย ทีละน้อย เจ้ากบน้อยตัวนั้น แค่รู้สึกอุ่น เพราะร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวด้วยความเคยชิน จนพอถึงจุดเดือด เจ้ากบน้อยก็ไม่สามารถทนได้อีกต่อไป เดือดพุพอง ตายไปในกระทะนั่นเอง กลายเป็นกบหนังกรอบเหมือนของท่านนายพล ที่น้อง อ. ชอบทานไงคะ นี่แหละคือภาวะโลกเดือดที่จะทำให้พวกเราตายอย่างกบ อาจจะต่างกับคำพังเพยโบราณของไทยที่มีนิยายพื้นบ้านเล่าขานกันมาเรื่องตายหยังเขียด

ที่ว่าคนส่วนใหญ่เป็นเหมือนกบคือไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร แต่นักวิทยาศาสตร์วงเล็กพูดคุยกันว่า 2-3 ปีข้างหน้านี้คือช่วงที่วิกฤติที่สุด ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องรอให้ถึง Net Zero 2030 หรือ 2050 เพราะเราคงไปไม่ถึง เราต้องไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาให้ได้ หมายความว่าคนทุกคนในโลกจะปล่อยคาร์บอนได้ไม่เกินคนละ 2 ตันต่อปี น้อง อ. ปล่อยคาร์บอนปีละกี่ตันคะ และรู้วิธีคำนวณหรือเปล่า ถ้ายังไม่ทราบต้องรีบเรียนรู้เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แล้วลองถามคนรอบ ๆ ตัว คุณพ่อคุณแม่ และคนในครอบครัวดูว่าคำนวณคาร์บอน 2 ตันเป็นหรือเปล่า ไปโรงเรียนก็ถามเพื่อน ๆ และคุณครูดู ถ้าใครตอบว่าไม่ทราบ ไม่สนใจ คนเหล่านั้นก็คือกบ ที่ไม่ทุกข์ร้อนรอวันสุก คุณหมอมาร์คคิดว่าน้อง อ. น่าจะเป็นกบพันธุ์ใหม่ที่ช่วยปลุกกบในกระทะให้ตื่นขึ้นมาคำนวณคาร์บอนกัน และรีบควบคุมพฤติกรรมตัวเอง ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และช่วยกันปลูกต้นไม้ชดเชยคาร์บอนด้วยนะคะ อย่างแรกรีบไปบอกคุณแม่กับคุณยายก่อนเลย อย่าปล่อยให้สุกไปกับภาวะโลกเดือดนี้.