วันนี้ผมได้รับเกียรติจาก อาจารย์โมฮัมมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้ก่อตั้งธนาคารคนจน “Grameen Bank” ประเทศบังกลาเทศ และภายหลังแนวคิดนี้แผ่ขยายไปทั่วโลก ท่านได้ให้โอกาสผมมานั่งคุยกันสบาย ๆ เป็นกรณีพิเศษ เพื่ออัปเดตสถานการณ์ Social Business ในประเทศไทย และเครือข่ายการทำธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลก

ที่จริงแล้วผมเคยพบท่านช่วงที่ทำงานเป็น NGO ตอนนั้นผมพยายามพัฒนากองทุนชุมชน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากข้างในให้หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยใช้โมเดล Grameen Bank เป็นหนึ่งในต้นแบบ ก่อนรัฐบาลยุคนั้นจะทุ่มเงินกองทุนหมู่บ้านซึ่งมีความคิดสวนทางอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไป ต่อมาก็ได้พบท่านอีกเรื่อย ๆ ในช่วงที่ช่วยกันผลักดันให้เกิด Social Business กับ Social Enterprise ที่มีเครือข่ายจากประเทศต่าง ๆ มาประชุมกันที่ประเทศไทยทุกปี แต่ก็หยุดไปช่วง Covid-19 และปีนี้กลับมาจัดอีกครั้งที่ AIT โดยวันนี้ผมมีโอกาสนั่งคุยกับท่านอีกครั้ง ซึ่งไม่พ้นเรื่องเก่า ๆ ในบริบทใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการเวลา โดยเริ่มจากคำถามเพื่อทบทวนความคิดว่า “ความหมายของคนจนและความยากจน” ของท่านนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนั้น เวลาดูคนจน เขามักจะวัดกันที่เส้นความยากจน หรือ Poverty Line ซึ่งปัจจุบันธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 2.15 ดอลลาร์ หรือผู้ที่มีรายได้ตํ่ากว่า 80 บาทต่อวัน แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์แบบอาจารย์ยูนุส ท่านว่า คนเราเกิดมาไม่มีใครยากจน ไม่ว่าจะเกิดมาที่ใดในครอบครัวเศรษฐีหรือยาจก แต่ระบบเศรษฐกิจของเราต่างหากที่แยกชนชั้น สร้างความได้เปรียบให้คนรวย แต่ถ้าเป็นคนจนจะเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากลำบาก ดังนั้นสิ่งง่ายที่สุดคือ เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบ ทำให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้เขาเป็นผู้ประกอบการ

ผมถามต่อว่า เหตุนี้ใช่ไหมที่ท่านได้ริเริ่ม Grameen Bank เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แล้วมันต่างจากธนาคารอื่นอย่างไร? โดยท่านยังให้คำตอบแบบเดิมที่น่าประทับใจ ซึ่งท่านบอกว่า คุณคงจำได้ ผมเคยพูดไว้ว่าตอนริเริ่ม Grameen Bank พวกธนาคารใหญ่ ๆ เขาทำแบบไหน เราทำตรงกันข้าม เขาบริการนายทุนหรือคนรํ่ารวย แต่เราบริการคนยากจน หรือธนาคารใหญ่ ๆ ให้เงินกู้ก้อนใหญ่ ๆ ดอกเบี้ยสูง ๆ แต่เราให้เงินกู้ก้อนเล็ก ๆ ดอกเบี้ยตํ่า ๆ หรือเขาให้เงินกู้ผู้ชายที่มีการศึกษา ที่มีหลักทรัพย์ แต่เราให้เงินกู้แก่ผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ผู้หญิงได้รวมกลุ่มกันประกอบธุรกิจ และเมื่อโมเดลนี้ขยายผลไปในยุโร และอเมริกา เงินกู้ส่วนใหญ่เกือบ 100% ก็ยังคงให้กู้กับกลุ่มสตรี

ผมถามต่อว่า สตรีที่ยากจนและไม่ได้เข้าโรงเรียน อาจารย์สอนเขาให้กลายเป็นผู้ประกอบการได้อย่างไร? หรือจะต้องส่งไปเข้าคลาสในโรงเรียนการจัดการดัง ๆ หรือไม่? อาจารย์ยูนุส ตอบว่า คนทุกคนเกิดมาเป็นนักจัดการโดยไม่รู้ตัว และสตรีเก่งที่สุด พวกเธอจัดการทุกอย่างในบ้าน ทั้งยังต้องปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำอาหารให้สามี รวมถึงต้องดูแลลูก ๆ ดูแลการเงินให้ครอบครัว เราแค่ชวนให้เขาคิด หรือได้รวมกลุ่มเพื่อขยายสิ่งที่ทำ จากนั้นช่วยเติมเงินลงทุน กับช่วยเชื่อมโยงตลาดให้ จากนั้นพวกเธอก็จะค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแรง และได้พิสูจน์แล้วว่า หนี้สูญ NPL อยู่ในระดับที่ตํ่ามาก ๆ ซึ่งผมเสริมว่า ถ้าส่งพวกเธอไปเรียนการจัดการในมหาวิทยาลัยดัง ๆ คงไม่เป็นแบบนี้ โดยอาจารย์ยูนุสก็คงมีความคิดคล้ายกันว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ตามวิทยาลัยการจัดการดัง ๆ ไม่เคยลงมือทำธุรกิจยาก ๆ ไม่เคยล้มลุกคลุกคลาน ไม่เข้าใจคนยากจน ส่วนใหญ่เรียนมาจากทฤษฎีตะวันตก เพื่อบริการนายทุน สร้างกำไรสูงสุดแบบรวยเร็ว ท่านยังบอกว่า เงินทุนที่ให้กลุ่มสตรี เป็นเงินกู้ที่ต้องคืน ไม่ใช่เงินให้เปล่า ไม่เหมือนเงินบริจาคมูลนิธิ หรือเงินสนับสนุนจากโครงการ CSR ซึ่งมันอาจจะดูคล้ายกัน แต่เงินกู้แบบนี้ จะช่วยสร้างวินัย สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเงินทุนที่ชาวบ้านกู้ไปแล้วนำมาคืน ยังสามารถหมุนเวียนไปช่วยให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนการทำความดีแบบลูกโซ่ ดังนั้น ในช่วงหลัง ๆ มูลนิธิระดับโลกและบริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำงานด้าน CSR ก็มาเป็นพันธมิตรกับ Yunus Center เพื่อทำให้เงินบริจาค หรือค่าใช้จ่ายทำกิจกรรมครั้งเดียว กลายเป็นกองทุนหมุนเวียน จนค่อย ๆ สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน และความยั่งยืนของกองทุนอีกด้วย

อาจารย์ยูนุส ยังบอกอีกว่าในช่วง Covid-19 ยังเป็นโอกาสริเริ่ม Social Business ใหม่ ๆ เช่น การบริการด้านสาธารณสุขชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่คุณหมอสามารถคุยกับผู้ป่วยที่ยากจนออนไลน์ วิเคราะห์โรค และจัดส่งยาให้ทันที และที่สำคัญปัญหาโลกร้อนยังส่งผลต่อคนยากจนที่เป็นเกษตรกร จึงต้องมีการส่งเสริมให้มีพลังงานสะอาด เช่น แต่ละบ้านในชุมชนสามารถกู้เงินไปติดแผง
โซลาร์เพื่อนำพลังงานไปใช้ ขณะที่ส่วนเกินก็ขายเข้าสู่ระบบ เพื่อจะนำเงินมาใช้หนี้ พอหนี้หมดก็กลายเป็นรายได้ใหม่ให้ครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ ผู้ทำโครงการนวัตกรรม Social Business ที่ตอบโจทย์ SDG ทั้ง 17 ข้อ ยังได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน งาน Social Business Academia Conference ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่ AIT ด้วย

นอกจากนั้น อาจารย์ยูนุส ยังแอบบอกอีกว่า “Yunus Thailand” กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาธนาคารเพื่อคนยากจนในประเทศไทย คล้าย ๆ Grameen Bank ซึ่งจะมาเล่าความคืบหน้าให้เดลินิวส์ฟังในเร็ว ๆ นี้ทั้งนี้ อาจารย์ยูนุสในวัย 83 ปี ได้บอกว่า ท่านจะสร้างโลกที่มีสามศูนย์ (3 Zeros) ให้ได้ ได้แก่ โลกที่ไม่มีความยากจน โลกที่ไม่มีใครว่างงาน โลกที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งถ้าใครเห็นด้วยก็มาร่วมมือกันนะครับ.