การปลูกต้นไม้ในเขตเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวสมํ่าเสมอยังลดอุณหภูมิโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ลดพิษและยังช่วยลดปรากฏการณ์เรือนกระจก รวมถึงอีกหลากเรื่องน่ารู้การปลูกต้นไม้ “ปลูกให้เป็น เมืองเย็นได้” โดยที่ผ่านมา SX TALK SERIES เวทีเสวนาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองข้อมูลด้านความยั่งยืน สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กลุ่มสำคัญขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่อนาคตของโลกที่ยั่งยืน

ในปีที่ 2 ของเวทีเสวนาและเป็นครั้งแรกของปี Sustainability Expo 2024 (SX2024) เปิดเวทีชวนร่วมคิดและแชร์ไอเดียในหัวข้อ “เมือง สวน ป่า : ปลูกให้เป็น เมืองเย็นได้” โดยมีผู้เชี่ยวชาญนักพัฒนาเมือง นักวิชาการและเครือข่ายที่ปฏิบัติจริงร่วมถ่ายทอดมุมมอง แนวคิด และประสบการณ์ทำงาน ชวนค้นคำตอบ ทำไมเมืองต้องการต้นไม้เพิ่ม รวมทั้งให้เทคนิคแนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง วิธีปลูกต้นไม้สู้หน้าร้อนและเล่าภารกิจ พิทักษ์ต้นไม้ในป่าคอนกรีต โดยหัวข้อการเสวนาได้แก่ “พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ทางรอดของคนเมือง รับมือโลกร้อน” โดย ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

“ต้นไม้ดี เมืองดี คนอยู่ได้” โดย อรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “Big Trees” และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ปลูกต้นไม้ลดมลพิษ อีกหนึ่งวิธีสร้างเมืองที่ดีและยั่งยืน” โดย รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจําคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยในประเด็นนี้ให้มุมมองว่า ต้นไม้แต่ละประเภทเหมาะสำหรับพื้นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ ต้นไม้ดักจับฝุ่น ที่มีทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม

“จากการวิจัยพบว่าต้นไม้จำฝุ่นแต่ละชนิดได้ หากได้รับฝุ่นชนิดเดิมซํ้า ๆ ต้นไม้จะสร้างกระบวนการเพื่อรับมือกับฝุ่นได้เร็วขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในเมือง ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ให้เยอะ แต่ต้องวางแผนให้ดีว่าจะปลูกต้นไม้อย่างไรเพื่อดักจับฝุ่นให้ได้มากที่สุดและบางพื้นที่เป็นจุดอับสายตาหากปลูกต้นไม้สูงก็จะไม่ปลอดภัยสำหรับคนเดินทาง”

 นอกจากนี้มีหัวข้อ “เพิ่มพื้นที่สีเขียวในออฟฟิศ ช่วยฮีลใจ เพิ่มประสิทธิภาพงาน” โดย สมัชชา วิราพร รองบรรณาธิการอํานวยการบ้านและสวน โดยให้มุมมองทั้งชวนสร้างพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถช่วยกันลงมือทำได้ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน

ขณะที่ “โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว” แนวคิดยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง โดย ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!parkกล่าวว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง จำเป็นต้องสำรวจฐานข้อมูลก่อนว่า พื้นที่ใดมีอิมแพ็ค อย่างเช่น มีประชากรหนาแน่น มีปัญหาฝุ่นควันแล้วออกแบบพื้นที่ให้ตรงตามความต้องการของชุมชนโดยรอบ บางพื้นที่อาจเป็นที่ออกกำลังกาย เป็น Pop-up Park หรือเป็นสนามเด็กเล่นก็ได้ โดยขนาดพื้นที่อาจไม่สำคัญเท่าระยะทางที่ใกล้ สามารถเดินจากบ้านได้ อยากให้ทุกคนมองว่าพื้นที่สาธารณะสีเขียวเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมือง

ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park ยศพล ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า พื้นที่สีเขียวมีเบนนิฟิททั้งในมุมสังคม ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน สุขภาพดีจากการที่มีสวนใกล้บ้านซึ่งดีต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะมิติทางสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ฝุ่นควันหรือสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมถึงมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้หากปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่รกร้างไม่มีมูลค่า เปิดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่ปลอดภัย จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือมีบรรยากาศดีขึ้น เกิดเป็นการพัฒนาที่ส่งผลต่อความยั่งยืน.