ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 งาน “Anniversary 60 ปี เดลินิวส์” จัดขึ้น ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ “ท็อป-พิพัฒน์ และนุ่น-ศิรพันธ์” คู่รักสายรักโลก ได้มาถ่ายทอดไอเดียการรักษ์โลก โดยท็อป กล่าวว่า ที่หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะในปี 2008 ได้ไปดูหนังสารคดีโลกร้อนเรื่อง An Inconvenient Truth หนังได้เปรียบเทียบถัง 2 ใบ ถังใบแรกใส่น้ำเดือด กับถังอีกใบใส่น้ำอุณหภูมิที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ปล่อยกบไปในถังน้ำทั้ง 2 ปรากฏว่าในถังน้ำใบแรกกบกระโดดออกมาแล้วรอดชีวิต แต่ถังน้ำที่อุณหภูมิค่อยปรับตัวสูงขึ้นทีละนิดที่เปรียบเหมือนกับแช่ออนเซ็น ทำให้กบที่อยู่ในถังน้ำใบนี้ตาย เหมือนกับเราทุกวันนี้เมื่อไม่ได้เจอเหตุการณ์ในทันทีทันใดจึงไม่ตระหนัก ยกตัวอย่างโควิด หากเป็นในช่วงแรก ถ้าเป็นโอกาสรอดมียาก เราจึงหาวิธีป้องกัน แต่เรื่องโลกร้อนหรือโลกเดือดเรายังไม่ตระหนัก อย่างเมื่อเช้าฝนตกทำให้วันนี้เราอาจจะชิลชิลไป เมื่อเห็นตัวอย่างเช่นนี้จึงหันมาสนใจและศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อม จนมาถึงวันนี้ 15 ปีแล้ว

​ท็อป บอกว่า แม้ตัวเองจะใช้ชีวิตแบบอีโค่ไลฟ์มา 15 ปีแต่ก็ยังมีกิเลสไม่สามารถจะเป็นมนุษย์อีโค่ได้ 24 ชม. แต่เลือกที่จะทำในสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่ได้ปั่นจักรยานหรือว่าเดินมา เพราะเราทำไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้คือมีถุงผ้าเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้กระบอกน้ำเพื่อลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรืออาจจะรับประทานอาหารแพลนต์เบสได้ในบางวัน ขณะที่บางวันก็อยากจะกินเนื้อสัตว์บ้าง

“ถ้าเราลดใช้ไฟสุดท้ายปลายทางเราก็ได้ลดค่าไฟ ประหยัดน้ำสระผมปิดน้ำ สุดท้ายเราก็จ่ายค่าน้ำน้อย สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เข้ากับไลฟ์สไตล์ อะไรที่ทำไม่ได้ผมก็ไม่เลือกที่จะทำ เรารู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรง่ายแล้วทำได้ถี่ๆ ทุกวัน มันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ สุดท้ายเราเลือกทำในเรื่องยากแล้วทำไม่ได้แล้วมาเสียดาย”

ท็อป กล่าวว่า คำว่า sustainability แปลตรงตัวหมายถึงความยั่งยืน คือสิ่งที่อยู่กับเรานานๆ ยาวๆ เช่น ถ้าทุกคนมีโอกาสไปดำน้ำก็คงไม่อยากเห็นถุงพลาสติกอยู่ใต้ทะเล อยากเห็นปะการังสวยๆ เช่นเดียวกับการเข้าป่า คงอยากเห็นต้นไม้มากกว่าเห็นพลาสติกทิ้งเกลื่อนกลาด อยากให้ธรรมชาติอยู่กับเราและเมื่อถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานเติบโตขึ้นได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีแบบนี้ เราไม่อยากให้หายไป เหล่านี้คือความยั่งยืน

“วันนี้โลกร้อนกระทบหมด การทำเกษตรไม่เหมือนเดิม วันหนึ่งเราต้องจ่ายค่าข้าวในราคาที่แพงขึ้น อันนี้กระทบกับเราแน่ๆ อากาศที่ร้อนขึ้นเราต้องเปิดแอร์ทั้งวัน ทำให้เงินที่หามาหมดไปกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ วันหนึ่งน้ำมันใช้แล้วหมด ของเริ่มมีน้อยราคาก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เราเทียบว่าเราต้องทำงานหาเงินแล้วต้องไปใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็น วันนี้เป็นเรื่องเทรนด์ ต่อไปวัยรุ่นต้องหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นคนที่เท่ๆ ถ้าวันนี้ไม่สนใจเรื่องนี้อาจจะเป็นคนตกเทรนด์ เหมือนคนที่ไม่รู้เรื่องเอไอน่าเสียดาย”

ด้าน นุ่น กล่าวเสริมว่า ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะส่วนหนึ่งท็อปเข้ามาจีบด้วย (หัวเราะ) ต้องบอกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วเรื่องโลกร้อนยังไม่ถูกพูดถึงมาก อย่างเก่งก็คือเรื่องตัดไม้ทำลายป่า วันที่ท็อปมาเล่าเรื่องนี้มันไกลตัวนิดหนึ่ง เชื่อว่าเป็นเหมือนหลายคนเมื่อได้ยินเรื่องความยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก พอมาทำงานด้วยกัน มีความรู้วิชาการได้เจอพื้นที่มากขึ้น จึงได้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จริงจัง

​นุ่น กล่าวว่า การใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ทำเรื่องที่ยากทำในเรื่องชีวิตประจำวัน บางเรื่องอย่างเช่นการใส่เสื้อผ้ามือสอง แต่งตัวแบบวินเทจ อันนี้ก็ถือว่าใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ถือว่ามีส่วนช่วยใช้ทรัพยากรของโลกในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ หลายเรื่องไม่ยากแค่วันนี้ใครเดินทางมาที่สยามพารากอนด้วยรถไฟฟ้า จงภูมิใจว่าคุณได้ใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ จากเมื่อก่อน 15 ปีที่แล้วกว่าเราจะอธิบายคำว่าอีโค่ ใช้เวลาอธิบายนาน แต่ในยุคนี้แค่พูดเรื่องถุงผ้าทุกคนรู้แล้วว่าเราจะสื่อสารเรื่องอะไร จะเห็นว่าการรับรู้ของคนยุคนี้เก่งมาก และเด็กเจนนี้มีเรื่องอีโค่อยู่ในดีเอ็นเอของเขา ทุกอย่างสามารถผสมผสานเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมด แค่ซื้อเครื่องสำอาง เลือกแพ็กเกจจิ้งที่เป็นกระดาษ ใช้ให้หมด เมื่อใช้หมดแล้วทิ้งให้ถูกถัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยาก

นุ่นและท็อป กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ได้ทำโปรเจกต์เชิญชวนคนเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่นการแยกขยะ โดยทำแอปพลิเคชัน ECOLIFE ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมจะสะสมแต้มไปแลกสิทธิประโยชน์กับองค์กรที่มาร่วมในแอปพลิเคชัน ขณะที่องค์กรได้ข้อมูลเรื่องรายงานความยั่งยืน คือการจัดการข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน