เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และนายก อบต.บางน้ำจืด ลงพื้นที่โรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามสถานการณ์กากแร่สังกะสีและแคดเมียม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินตรวจจุดเก็บกากแคดเมียมภายในโรงงานจังหวัดสมุทรสาครที่ทำสัญญากับทางบริษัทที่จังหวัดตาก ซึ่งภายในบริเวณโกดังมีถุง Big Bag กากแคดเมียมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายวางไว้โดยรอบบริเวณโรงงาน

“กระทรวงฯ ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องแคดเมียมมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจากโรงงานต้นทาง จ.ตาก และไล่ติดตามเส้นทางการขนส่ง ซึ่งคาดว่ามีการกระจายไปหลายที่และมีจุดหมายคือการส่งออกนอกประเทศ เพราะโรงหลอมในประเทศยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถหลอมและเก็บแคดเมียมในลักษณะนี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากแคดเมียมมีจุดเดือดต่ำกว่าสารประกอบอื่นๆ จากขยายผลจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง วันนี้จึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโรงงานเดิมในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการลงพื้นที่ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่พบถุง Big Bag บรรจุกากแคดเมียม/กากสังกะสี จำนวนกว่า 3,000 ตัน โดยในวันนี้ได้ตรวจค้นและพบถุง Big Bag เพิ่มอีกกว่า 3,378 ตัน ซึ่งเท่ากับว่าโรงงานนี้มีกากแคดเมียมซุกซ่อนกว่า 6,378 ตัน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ส่วนความคืบหน้าในจุดอื่นๆ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบในเส้นทางทั้งหมดที่คาดว่าเกี่ยวข้องว่าจะมีที่ไหนหรือโกดังไหนพักจัดเก็บได้บ้าง รวมไปถึงจุดตามท่าเรือที่น่าจะเป็นจุดส่งออก ซึ่งตอนนี้ตรวจสอบได้เกือบครบถ้วนแล้ว ส่วนการดำเนินการ ได้ แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. การจัดการกากแคดเมียมที่ตรวจพบ คือถ้าเจอการจัดเก็บหรือพักไว้ที่จุดใด จะนำส่งกลับไปจุดต้นทางอย่างปลอดภัย โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าบ่อกักเก็บต้นทางยังมีสภาพดี ไม่มีการรั่วซึม สามารถจัดเก็บได้ 2. การสืบค้นส่วนที่เหลือ คือ ดำเนินการตรวจสอบ ตรวจค้น พื้นที่โรงงานหรือท่าเรือที่ต้องสงสัยและเกี่ยวข้องทุกแห่ง เพื่อติดตามกากแคดเมียมกลับคืนให้ได้ใกล้เคียงปริมาณเดิมที่สุด 3. มาตรการป้องกัน คือให้คณะกรรมการฯ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือกันว่ามีช่องว่างที่บกพร่องตรงจุดใดบ้าง เพื่อป้องกันการลักลอบขนย้ายหรือลักลอบจำหน่ายในอนาคต และในเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับบริษัทต้นทางแล้วว่าจะขนย้ายกากทั้งหมดที่พบกลับไปในจุดฝังกลบตามเดิม ภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 และทำการฝังกลบภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายจะมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์กากแคดเมียม ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือการดำเนินการและมาตรการการป้องกันและจัดการกับผู้กระทำผิดต่อไป