วันที่ 10 เม.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เงินหมุนเวียนในพื้นที่ บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร สร้างโอกาสประกอบอาชีพ และให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเกิดผลต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยจะให้สิทธิ 50 ล้านคน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท ใช้จ่ายตามร้านค้าที่กำหนด จะเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มจากฐาน 1.2-1.8%

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แหล่งเงินใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กัน แบ่งเป็น 3 ส่วน โดย 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคน ผ่านมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ของงบประมาณปี 2568

3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท หลังจากปีงบประมาณ 2567 เริ่มใช้ รัฐบาลจะพิจารณาปรับรายการงบไหนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ให้นำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล และสามารถใช้งบกลางเพิ่มเติมได้หากวงเงินไม่เพียงพอ

“ยืนยันการดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.เงินตรา และเป็นรูปแบบเงินบาทไม่ได้ใช้เงินสกุลอื่น ส่วนเงินที่ให้ ธ.ก.ส. จ่ายเกษตรกร รัฐบาลจะตั้งงบประมาณบวกดอกเบี้ยคืนตามรายได้งบประมาณที่เข้ามา และเป็นไปตามมาตรา 28 วินัยการเงินการคลัง ยืนยัน ธ.ก.ส. มีอำนาจหน้าที่ทำได้ และมีสภาพคล่องเพียงพอ”

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า สาเหตุและความจำเป็นดำเนินโครงการ เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ เศรษฐกิจไทยเจอความท้าทายในและนอกประเทศ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ รายได้ครัวเรือนลด หนี้ครัวเรือน มีภาระสูง เศรษฐกิจโลกฟื้นช้า ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินกระจายไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน

สำหรับแนวทางดำเนินการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ดังนี้ 1.กลุ่มเป้าหมายคนไทย 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์ ได้แก่ 1) อายุเกิน 16 ปี ในวันที่ลงทะเบียน 2) รายได้ต่อปีภาษีไม่เกิน 840,000 บาท 3) มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท และใครที่ใช้สิทธิมาตรการอีซี่ อี-รีซีท สามารถใช้สิทธิเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้

2.เงื่อนไขใช้จ่าย กลุ่มแรกประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายในอำเภอ 878 อำเภอ โดยกำหนดใช้จ่ายเฉพาะร้านขนาดเล็กตามกระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น เช่น เซเว่น ร้านสะดวกซื้อลงมา ร้านปลีกขนาดเล็ก ตั้งภายนอก และในปั๊มน้ำมัน ยกเว้นร้านแม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่นับรวม ส่วนการใช้จ่ายร้านค้ากับร้านค้า ไม่มีจำกัดขนาดของร้านค้า และไม่กำหนดพื้นที่ใช้จ่าย

3.ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

4.ใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านซูเปอร์แอป ที่รัฐบาลจะเป็นผู้พัฒนาเอง โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายร่วมกับธนาคารอื่นๆ ได้ ในลักษณะ open loop

5.คุณสมบัติร้านค้า ต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษี ดังนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (ประกอบอาชีพค้าขายเท่านั้น) หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล

“ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป คือ ร้านค้าต้องไปใช้จ่ายซื้อสินค้ากับร้านค้าก่อนถึงจะถอนเป็นเงินสดได้ เพื่อลดความเสี่ยงทุจริตและให้มีผลต่อเศรษฐกิจ”

6.ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และ จะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

7.การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง