“ธนาคารกสิกรไทย” เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่เคลื่อนตัวเร็วในด้านความยั่งยืน  มาร่วมแชร์ประสบการณ์  โดย  “ขัตติยา อินทรวิชัย”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ธนาคารกสิกรไทย บอกเล่าประสบการณ์แผนการบริหารสถาบันการเงิน เพื่อความยั่งยืนว่า  ความยั่งยืนเป็นโจทย์ท้าทายของสถาบันการเงิน  ในปัจจุบันภาพรวมของโลกมีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 53,800 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อนำประเทศทั่วโลก ซึ่งมีจำนวน 195 ประเทศทั่วโลก เฉลี่ยแล้วแต่ละประเทศปล่อยคาร์บอน 0.5%  

ขณะที่ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนสูง 372 ล้านตันคาร์บอนฯ  ซึ่งธนาคารกสิกรไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 36 ล้านตัน แต่ในจำนวนตัวเลขดังกล่าวเมื่อแบ่งออกมาเป็นการทำธุรกิจของธนาคารเองมีเพียง 0.07% แต่สัดส่วนที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมากอยู่ที่ภาคสินเชื่อ

ธ.กสิกรไทยตั้งเป้า Net Zero ปี 2030

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ดังนั้นเมื่อรู้จำนวนตัวเลขแล้ว  ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายว่าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2030 โดยธนาคารได้ตั้งวงเงิน 1-2 แสนล้านบาทที่จะสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านเพื่อปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้  วันนี้ใช้ไปกว่าครึ่งแล้ว และจะยังเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ สำหรับการทำธุรกิจของธนาคารเองเราปล่อย 0.07% เทียบกับ 3 ปีที่แล้วเคยปล่อย 0.08% และจะลดลงเรื่อย ๆ ในปี 2030 จะเป็น Net Zero คือปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จริง ๆ สิ่งที่ทำได้คือ 1.ใช้พลังงานหมุนเวียน 2.ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และใช้รถยนต์ไฟฟ้า 3.คู่ค้าหรือซัพพลายเออร์หรือคนที่จะมาขายของให้กับธนาคารจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินเบื้องต้นในเรื่องของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ต้องทำไปพร้อมกัน 

ยุติปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“บทบาทแรกคือ ต้องคุยกับลูกค้าถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านโดยใช้กรีนโลน กรีนบอนด์ พลังงานหมุนเวียน โดยทำงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ทำเรื่องแพลตฟอร์มในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวมไปถึงธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารกรุงศรีฯ เป็นตัวแทนสมาคมธนาคารไทย  ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยภาคธุรกิจและประเทศไปสู่ Transition Finance เพื่อให้เป็นเน็ตซีโร่ตามบริบทในประเทศไทยในปี 2065 ซึ่งกสิกรไทยมีแผนพูดคุยกับลูกค้าเริ่มจากไม่สนับสนุนสินเชื่อให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่วันนี้

ธนาคารกสิกรเดินตามเป้า ESG

ประเด็น ESG เมื่อฉายภาพการทำงานด้าน E enviroment สิ่งแวดล้อมธนาคารมีภาพที่เด่นชัดของโครงการรักษ์ป่าน่านภายใต้การดำเนินอย่าง “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เพราะน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา 40 % มาจากป่าน่าน การบุกรุกทำลายป่าจะไม่เกิดขึ้น หากความยากจนได้รับการแก้ไข โดยต้องสร้างความเป็นอยู่ที่ดี กินดี มีโรงพยาบาล หาอาชีพเสริม ต้องทำแบบบูรณาการ เหล่านี้ส่งผลต่อสังคมคือ Social  ก่อให้ G (Governance : ธรรมาภิบาล) สิ่งที่ต้องทำคือต้องติดตามวัดผลและสนับสนุน โดยคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยดูแลให้ความสำคัญ และต้องรายงานข้อมูลแก่คณะกรรมการ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านงาน ESG

อย่างไรก็ตามธนาคารมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้มีบริการเงินดี ๆ ในราคาที่ไม่แพง ยุติธรรม เข้าถึงคนไทย ธนาคารมีเป้าหมายต้องทำให้คนไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงินและต้องให้ความรู้ด้านการเงินคนไทย จริง ๆ แล้วเรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว แต่จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติกลุ่มคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 7,000 ยังมีการกู้มากกว่าออม ดังนั้นจึงต้องช่วยกันในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้บุคคล ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยการออมเป็นเรื่องสำคัญ

เดินสู่ความยั่งยืนต้องคิดใหม่

ซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย สรุปวิธีคิดว่า แผนงานเพื่อให้เกิดขึ้น ต้องคิดไม่เหมือนเดิม  เรื่องต้นทุนเมื่อผลิตออกมาแล้ว ขายได้จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าขายให้มากกว่านั้นต้นทุนต้องถูก  ต้องทำงานร่วมกับลูกค้าสำรวจความต้องการว่าผู้ซื้ออยากได้แบบไหน ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการ ระบบซัพพลายเชนต้องเป็นสีเขียว เน้นหาคนที่เก่งร่วมทำงาน และต้นทุนการเงินที่ถูกราคาไม่แพง ขอสินเชื่อต้องออกแบบเพื่อให้ต้นทุนไม่ได้ถูกที่สุด แต่ต่อเนื่องมากที่สุด เป็นต้น

“ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา ค่อย ๆ ขยายผล องค์กรเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ต้องเริ่มที่ตัวเอง และสร้างผลต่อโดยรวมได้มากแค่ไหน ซึ่งความท้าทายเป็นการเดินทางไม่รู้ว่าในทุกสเต็ปจะปรับอย่างไร  ดังนั้นต้องค่อย ๆ ปรับ ความทนทานด้านการเงิน อยากปล่อยสินเชื่อแต่ต้องบาลานซ์ว่ามีเงินมาคืนหรือไม่ด้วย ซึ่งประเทศไทย ต้องดูความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี พลังงานสะอาดมีพอหรือยัง ความมีเสถียรภาพด้านพลังงาน ต้นทุนว่ากรีนจริงหรือไม่ และเครื่องชี้วัดจากอะไร ที่สำคัญต้องทดลองทำ ถ้าทำไม่ได้ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องร่วมกันทดลอง และยังต้องทำต่อเนื่องไม่มีวันจบ”.

พรประไพ เสือเขียว
[email protected]