ทุกคืนวันเสาร์ปลายเดือนมีนาคมของทุกปี Gen-S ทั่วโลกต่างรณรงค์ช่วยกันดับไฟ และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณความสำคัญของภาวะโลกเดือด ซึ่งปีนี้ตรงกับคืนของวันที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง การไฟฟ้านครหลวงรายงานว่า การร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในพื้นที่ของ กทม. จะลดการใช้ไฟไปได้ 24.65 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับลดปริมาณคาร์บอนไปได้ถึง 11 ตัน หรือเท่ากับที่ต้นไม้ 1,100 ต้นดูดซับคาร์บอนได้ภายใน 1 ปี และจะช่วยให้สามารถลดค่าไฟฟ้าไปได้ 130,182 บาท ซึ่งหลายคนบอกว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จมหาศาล แต่อีกหลาย ๆ คนก็บ่นว่าทำได้แค่นี้เองหรือ?

แล้ววันก่อน Earth Hour ประจำปีนี้ ผู้คนใน กทม. พูดกันอย่างไร? ผมจึงลองพูดคุยกับผู้คนต่าง ๆ เรื่อง Earth Hour และพบเสียงสะท้อนออกมาดังนี้ คนกลุ่มแรก ที่มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่คุยด้วย ถามผมกลับว่า Earth Hour คืออะไรหรือ? เหมือนเคยได้ยิน แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร พอผมอธิบายไป หลายท่านก็บอกว่าน่าสนใจ แต่ไม่เห็นมีการประชาสัมพันธ์เลย คนกลุ่มที่สอง บอกว่ารู้ว่าคืออะไร แต่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะเขามีธุระอยู่นอกบ้าน ไปอยู่ศูนย์การค้า ไปดูหนัง ไปดูคอนเสิร์ต ส่วนคนที่อยู่บ้านบอกว่าเป็นช่วงดูละครพอดี และกำลังถึงตอนสนุกด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีมากพอควร แต่ไม่ถึงครึ่ง และพวกเขาเห็นความจำเป็นส่วนตัว สำคัญกว่าการจัด Event แบบจัดไปงั้น ๆ คนกลุ่มที่สาม มีจำนวนน้อยที่สุดบอกว่า ได้ตั้งใจทำแบบนี้ในทุก ๆ ปีมามากกว่า 10 ปีแล้ว และจะทำต่อไป ไม่ว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ ผมถามคนกลุ่มนี้ต่อไปว่า แล้วปีนี้พวกเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งทุก ๆ คนแทบจะตอบตรงกันว่า สถานการณ์ภาวะโลกเดือดรุนแรงขึ้นมาก แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญ สังเกตได้ว่า พื้นที่ กทม. ในปีนี้ มีการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้น้อยมาก แถมไม่มีอะไรใหม่เลย โดยยังเป็นแค่ Event ที่ยังไม่ทำให้เกิด Movement

แล้วทั่วโลกเป็นอย่างไร? คงต้องย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์เรื่องนี้กัน ปี 2007 เริ่มจากผู้คนที่กรุง Sydney, Australia 2.2 ล้านคนร่วมกันปิดไฟเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ปี 2008 มีผู้คน 50 ล้านคน ใน 35 ประเทศ ร่วมกันแสดงพลังในการดับไฟ ปี 2009 ผู้คนทั่วโลกร่วมกิจกรรมทำลายสถิติกิจกรรมที่มีผู้คนร่วมมากที่สุดในโลก ปี 2010 ผู้คนได้ร่วมกัน ส่งสัญญาณร่วมกับการประชุมนานาชาติ COP15 ที่กรุง Copenhagen

จากนั้นตั้งแต่ ปี 2015 ผู้คนประเทศต่าง ๆ ได้รณรงค์ระดับนโยบายให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกฎหมายเรื่องการใช้พลังงานและภาวะโลกร้อน เช่น บรูไน มาเลเซีย รัสเซีย สกอตแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ยูกันดา สเปน ฝรั่งเศส และตั้งแต่ ปี 2019 มีการเริ่มเคลื่อนไหวร่วมกันผ่าน Digital Platform ต่าง ๆ ไปสู่ทั่วโลก จนมาถึงระหว่าง ปี 2020-2022 โลกต้องหันมารณรงค์เรื่องนี้ผ่านทางออนไลน์ เพราะเกิดวิกฤติ Covid-19 ขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสดีที่สามารถขยายความร่วมมือไปได้มากกว่า 190 ประเทศ

ส่วน ปี 2023 เป็นต้นมา เมื่อโลกเราเริ่มหมุนต่อไปอีกครั้ง หลังจากที่วิกฤติ Covid-19 คลี่คลาย ผู้คนทั่วโลกต่างก็รู้ว่าวิกฤติโลกเดือดกำลังใกล้เข้ามาอย่างน่ากลัว และทุกคนจะนิ่งเฉยไม่ได้ แค่ปิดไฟปีละ 1 ชั่วโมงคงไม่ได้แล้ว จึงมีความคิดทำแคมเปญชื่อ The Biggest Hour for Earth ขึ้น โดยเชิญชวนผู้คนร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วออกไปทำสิ่งดี ๆ อะไรก็ได้ด้วยกำลังของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้โลกของเราร้อนขึ้นอีก 1.5 องศา และเพื่อให้โลกของเราได้ไปถึงเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030 ถือว่าเป็นการออกไปกู้โลกในเวลา 1 ชั่วโมง โดยแคมเปญนี้ในปีแรกนั้น มีผู้ร่วมออกไปกู้โลกรวมกัน 60,000 ชั่วโมง และยังมีเวลาสะสมไว้ใน Hour Bank อีกกว่า 400,000 ชั่วโมง

ทั้งนี้ บทเรียนที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้เจอ ก็แทบไม่ต่างจากประเทศไทย คือมีคนใส่ใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลดภาวะโลกร้อนในจำนวนที่น้อยมาก และยังไม่สามารถสร้างผลกระทบที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้เลย อีกทั้งยังมีคนมากกว่าครึ่งโลก ที่ไม่มี Awareness คือ ไม่รู้เรื่อง หรือแค่ได้ยินผ่าน ๆ กับมีคนอีกจำนวนมากบนโลกที่ไม่สนใจเรื่องนี้เลย โดยเอาความสะดวกสบายของตนเป็นที่ตั้ง รวมไปถึงยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีจำนวนไม่มากพอเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้คนตัวเล็ก ๆ ที่ห่วงใยอนาคตที่ยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ

ส่วนคำถามที่ว่า แล้วโลกจะต้องพยายามทำอะไร? เพื่อต่อยอด Earth Hour นั้น ก็มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

 1.พยายามทำ Event ให้เป็น Movement โดยการขยายจำนวนคน จำนวนประเทศ จำนวนเครือข่าย และระยะเวลา อาทิ ขยายผลจากแค่เพียง 1 ชั่วโมงใน 1 วันของแต่ละปี ให้มีกิจกรรมรักษ์โลกที่เชื่อมโยงกับวันอื่น ๆ ได้ตลอด กับสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ

2.พยายามผลักดันให้เรื่องราวที่ผู้คนตัวเล็กตัวน้อยร่วมกันรณรงค์เป็น Agenda ของผู้นำ ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ จนกลายเป็นนโยบายใหม่ ๆ หรือมีกฎหมายใหม่ ๆ มีผู้เล่นใหม่ ๆ รวมถึงมีแหล่งทุนใหม่ ๆ

3.พยายามขยายการมีส่วนร่วมและผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วนของผู้นำ ของเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลกจนกลายเป็นยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาเมืองแห่งความยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อหันกลับมาดู กทม. ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับทาง WWF และองค์กรต่าง ๆ มาหลายปีแล้ว ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ สะสมพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม และที่สำคัญทาง กทม. เองก็เพิ่งจะแต่งตั้ง CSO หรือ Chief Sustainable Office คนใหม่ถอดด้ามไป ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กทม. จะผลักดัน Event รักษ์โลกนี้ให้เป็น…

Movement ของความยั่งยืน.