อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนการผลิต รูปแบบการบริโภค และอุปสงค์ของผู้บริโภค ธุรกิจใดไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล ดังนั้นการเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน จึงไม่ได้มีเพียงการผลิตและจำหน่ายสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นสำคัญอีกด้วย

เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ จึงได้เปิดเวที “Sustainable Daily Talk 2024” หัวข้อ Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ภาคองค์กรธุรกิจที่เดินหน้าด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง ร่วมแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์เชิงลึกที่ทำแล้วเกิดขึ้นจริง กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญ นำโดย “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ร่วมแชร์แนวทางการปรับตัวต่อการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อความยั่งยืนว่า จากรายงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ประเด็นความยั่งยืนนั้น มีด้วยกันทั้งความเสี่ยงเดิมและความเสี่ยงใหม่ โดยความเสี่ยงเดิม ที่ทราบกันดีอยู่ คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสงครามต่าง ๆ

AI ความเสี่ยงใหม่ทั้งประโยชน์-โทษมหันต์

ส่วนความเสี่ยงใหม่ คือ เรื่อง “AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์” เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และโทษมหันต์ โดยความเสี่ยงของ AI คือการสร้างข้อมูลเท็จ ไม่แม่นยำและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากนัก ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสูงอีกด้วย ในส่วนของธุรกิจเครื่องดื่ม ผลกระทบหลักที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ เรื่อง “สภาพนํ้า” โดยจากผลวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบไปยังสภาพแวดล้อมของนํ้า ทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพ ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดวิกฤติได้เช่นกัน

“สราวุฒิ” ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า AI และนํ้า มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้พัฒนาในระบบต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 2 สโคป โดยสโคปที่ 1 คือการใช้นํ้าในการลดความร้อนของ Data Center ส่วนสโคปที่ 2 คือการใช้นํ้าในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อมาป้อนเข้าสู่ AI ให้สามารถทำงานได้ และขณะนี้หลายประเทศก็ได้มีการตั้งศูนย์ระบบ AI เป็นของตนเอง นั่นหมายความว่าจะต้องมีการใช้ทรัพยากรนํ้าจำนวนมหาศาล มีตัวเลขเปรียบเทียบจากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างเข้าใจง่าย อาทิ หากคุณถามแชต GPT3 ไป 20-50 คำถาม จะต้องใช้นํ้าอย่างน้อย 500 ซีซี ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคำถาม หรือสถานที่ตั้งของ Data Center นี่จึงเป็นความท้าทายใหม่ว่า หากจะลงทุนเรื่อง AI กันทั่วโลก จะมีการนำนํ้าจากที่ใดมาใช้สำหรับป้อนระบบการทำงานดังกล่าว

ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจ TCP ในการย่างเข้าสู่ปีที่ 68 ถูกปลูกฝังด้วยดีเอ็นเอที่เน้นการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการตอบแทนสังคมจากรุ่นสู่รุ่น อย่างที่ในอดีตได้มีโครงการ “อีสานเขียว” ซึ่งทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อช่วยการยกระดับรายได้ของประชาชน ก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ต่อมา ในปี 2561 จึงมีการกำหนดกรอบการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ประกอบไปด้วย 1. Integrity พันธมิตรธุรกิจยั่งยืน และองค์กรธรรมาภิบาล 2. Quality คุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงคุณภาพชีวิตบุคลากร และ 3. Harmony การรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนยั่งยืน นำมาซึ่งแนวคิดในการทำงานของ TCP ที่ว่า “Action For Adaptation” คือการคิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนแปลง เพื่อเอาตัวรอด

TCPเปลี่ยนขวดลดคาร์บอนฟุตพรินต์

โดยการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้สามารถเดินต่อได้อย่างยั่งยืนของ TCP เริ่มลงมือจากการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในส่วนของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การดีไซน์ขวดแก้ว จากขวดเหลี่ยมให้เป็นขวดกลม ซึ่งสามารถทำให้ลดนํ้าหนักขวดลงได้ถึง 12% และช่วยให้ปรับฉลากให้สั้นลงได้ถึง 4% เมื่อนํ้าหนักขวดลดลง จะช่วยเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ในการขนส่ง อีกทั้ง กระบวนการผลิตขวดแก้วในปัจจุบันได้มีการใช้เศษแก้วที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างน้อย 60% มาใช้ในการขึ้นรูปขวดใหม่ นอกจากนี้ยังยกเลิกการใช้ขวดพลาสติก PET ที่เป็นสีทั้งหมด และการพิจารณาใช้ rPET มาเป็นส่วนผสมในการผลิต ส่วนกระป๋องอะลูมิเนียมที่ปกติสามารถรีไซเคิลได้ 100% เป็นทุนเดิมอยู่แล้วในปัจจุบัน TCP ก็ได้มีการเพิ่มส่วนผสมของอะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลแล้ว 70% มาใช้ในการผลิตอีกด้วย

“การที่ยังไม่สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ทั้งหมด เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แต่ละตัวก็ย่อมมีจุดอ่อน และต้องดูพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย หากเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม จุดอ่อนคือเมื่อเปิดแล้วต้องดื่มให้หมด และผู้บริโภคอยากเห็นสีของนํ้าข้างใน แม้ขวดแก้วรีไซเคิลได้ 100% แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของนํ้าหนักที่มาก ซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนฯ”

มะปี๊ดสร้างรายได้ช่วยเกษตรกร

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง “ฟาร์มซ่า” ที่ร่วมมือกับเกษตรกรไทย ในการยกระดับผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดจันทบุรี ด้วยการนำผลมะปี๊ดมาสกัดเป็นนํ้า มีวิตามินซีสูง แม้ยอดขายของเครื่องดื่มดังกล่าวจะไม่ได้สูงนัก เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ แต่ก็นับว่าเป็นแนวทางเริ่มต้นในการผลิตสินค้าที่ช่วยเรื่องความยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านี้ในส่วนของโรงงานก็ได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เข้ามาช่วย ซึ่งในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัด ก็ได้มีการติดตั้งระบบระบายอากาศที่มาช่วยดึงอุณหภูมิความเย็น ทำให้ภายในโรงงานอุณหภูมิตํ่ากว่าภายนอก 5% ทั้งยังช่วยปลูกฝังพนักงานให้รู้จักการคัดแยกขยะ รวมถึงร่วมกับองค์กรพันธมิตรอย่าง IUCN และเก็บสะอาด ในการสร้าง Eco System เพื่อเก็บบรรจุภัณฑ์ให้กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม มีเป้าหมายที่จะสร้าง “Net Positive Water” ภายในปี 2030 คือการคืนนํ้ากลับสู่ธรรมชาติให้มากกว่านํ้าที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยได้เดินหน้าลงมือตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่ 3 ลุ่มนํ้า ได้แก่ ลุ่มนํ้ายม ลุ่มนํ้าบางปะกง และลุ่มนํ้าโขง ในการไปพัฒนาแหล่งนํ้าต่าง ๆ ด้วยการทำระบบบริหารจัดการนํ้าให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนในพื้นที่ 42,000 ชุมชน โดยมีการคืนนํ้ามากถึง 17 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่านํ้าที่ใช้ในการผลิตใประเทศไทย ทั้งยังสร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้มากถึง 90 ล้านบาท

ชวนร่วมปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า

“สิ่งต่าง ๆ ที่เราทำ เพราะอยากทำ ทำเพราะเห็นปัญหา เราไม่ได้ทำเพราะต้องการตอบโจทย์กฎหมาย Climate Change ทั้งหลายที่จะออกมา และในประเด็นดังกล่าว สิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับผมคือ การที่คนคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง บางคนคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของกระทรวง หรือเป็นหน้าที่ของบริษัทใหญ่เท่านั้นที่ต้องทำ ซึ่งหากคิดแบบนี้เราจะไม่รอด เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันทำอย่างเต็มที่ ทาง TCP ได้เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ที่ประกาศไว้ในปี 65 ไว้ว่า ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อปลุกพลังให้โลกใบนี้”

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]