แต่ภาพบาดตาที่ไม่ถูกสุขลักษณะเช่นนี้ อาจกลายเป็นสิ่งที่เหลืออยู่ในอดีตของเมืองในไม่ช้า เนื่องจากเทศบาลนครนิวยอร์ก เริ่มดำเนินการ “ปฏิวัติขยะ” เพื่อทำความสะอาดถนนหนทาง

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ธุรกิจขายอาหารมากกว่า 200,000 แห่ง จำเป็นต้องใช้ถังขยะที่มีฝาปิดอย่างแน่นหนา เพื่อเก็บขยะที่พวกเขาสร้าง ซึ่งมีปริมาณรวมหลายล้านตันต่อปี

อีกทั้งภายในปี 2569 อาคารที่พักอาศัยในนครนิวยอร์ก จะต้องใช้ถังขยะดังกล่าวเช่นกัน ตามแผนการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางที่ใช้ในเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองบาร์เซโลนา กับกรุงมาดริด ของสเปน และกรุงบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนตินา

โครงการนำร่องนี้ กำลังดำเนินการในย่านฮาร์เลม ทางตอนเหนือของเขตแมนฮัตตัน ซึ่งคาดว่านครนิวยอร์ก จะสูญเสียที่จอดรถประมาณ 150,000 คัน เนื่องจากการเปิดตัวถังขยะแบบใหม่ แต่ถึงอย่างนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนกล่าวว่า ความไม่พอใจของชาวเมือง หรือการประท้วงใด ๆ อาจลดลงด้วยผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจของการทำความสะอาด

“สำหรับผม มันคือการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ผมออกมาในตอนกลางคืน และมีหลายครั้งที่ต้องเดินบนถนน เพื่อหลีกเลี่ยงหนูที่อยู่บนทางเท้า แต่ในตอนนี้ ผมแทบไม่เห็นหนูตามท้องถนนเลย” นายรอน เจมส์ ชาวเมืองในย่านฮาร์เลม กล่าว

ตามตัวเลขของสภาเทศบาลนครนิวยอร์ก เมืองแห่งนี้ ซึ่งมีประชากร 8.5 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลายล้านคนต่อปี ผลิตขยะประมาณ 20 ล้านตันต่อวัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจต่าง ๆ และหากนำถุงขยะทั้งหมดในแต่ละวันมาวางเรียงกัน มันจะมีระยะทางยาวถึง 43 กิโลเมตรเลยทีเดียว

อนึ่ง นครนิวยอร์ก เป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตแมนฮัตตัน ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 1.7 ล้านคน นั่นจึงทำให้การหาพื้นที่สำหรับถังขยะ ที่สามารถรองรับพฤติกรรมการซื้อของสังคมที่คลั่งไคล้การบริโภค ซึ่งคุ้นเคยกับ “การใช้แล้วทิ้งอย่างรวดเร็ว” ถือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน

“มันเป็นปัญหาใหญ่” นายสตีเวน โคเฮน ศาสตราจารย์ด้านกิจการสิ่งแวดล้อมและกิจการสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว

ในทางปฏิบัติ สถานที่เดียวที่สามารถวางถังขยะได้ คือ บนทางเท้า แต่มันก็เป็นการรุกล้ำพื้นที่สำหรับคนเดินถนน และอาจทำให้การจราจรติดขัดยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สันทัดกรณีประมาณการว่า ในบางช่วงตึกของนครนิวยอร์ก ถังขยะกินพื้นที่มากถึง 25% ของทางเท้าทั้งหมดด้วย

แม้โคเฮน กล่าวว่า ไม่มีใครชอบอยู่ใกล้สถานีขนถ่ายขยะ แต่เขามองเห็นความหวัง และเชื่อว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถเปลี่ยนขยะ ให้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่สำคัญได้

“มันต้องใช้เวลาสักพัก ก่อนที่ผู้คนจะคุ้นเคยกับแนวทางใหม่นี้ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้ จะต้องใช้เวลาหลายปี ถึงจะเห็นผลลัพธ์จริง ๆ แต่ผมคิดว่า มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” โคเฮน กล่าวทิ้งท้าย.

เเมวเเว่น