ซึ่งที่ประชุม กบน. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราชดเชยเงินกองทุนนํ้ามันฯ ในกลุ่มดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกในประเทศเกิน 30 บาท/ลิตร ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนวิกฤติการณ์ด้านราคานํ้ามันเชื้อเพลิง

สำนักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานฐานะกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 67 ว่า ติดลบสูงสุดในรอบปี 67 โดยทะลุถึง 99,821 ล้านบาท มาจากบัญชีนํ้ามันติดลบถึง 52,729 ล้านบาท จากการชดเชยราคานํ้ามันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือน ม.ค. 67 เป็นต้นมา และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบถึง 47,092 บาท จากการชดเชยราคาจำหน่ายปลีกไม่เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนนํ้ามันที่ติดลบระดับ 9.9 หมื่นล้านบาทดังกล่าว นับว่าติดลบสูงสุดในรอบปี 2567 คาดว่าจะติดลบถึงแสนล้านบาทภายในเดือน เม.ย. 67 หากไม่มีการดำเนินการอะไรหลังจากกองทุนนํ้ามันฯ เคยติดลบสูงสุดถึง 1.3 แสนล้านบาทมาแล้วเมื่อปี 65 ปัจจุบันราคานํ้ามันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง แม้จะได้ลดลงมาเล็กน้อยจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67 โดยเฉพาะราคาดีเซลเฉลี่ยในตลาดโลกอยู่ที่ 104.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนนํ้ามันฯ ต้องชดเชยถึง 4.17 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร

คณะรัฐมนตรีเคยมีมติลดภาษีสรรพสามิตลง 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-19 เม.ย. 67 การบริหารสภาพคล่องกองทุนนํ้ามันฯ นั้น ทาง สกนช. ได้ทยอยเบิกจ่ายเงินที่เหลือจ่ายอยู่ 30,000 ล้านบาท พอที่จะดูแลราคาดีเซลไปได้อีกระยะหนึ่ง หากราคาดีเซลในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้

ปัญหาสภาพคล่องของกองทุนนํ้ามันฯ จะเริ่มวิกฤติเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 67 โดยจะต้องใช้หนี้เงินต้นที่กู้จากสถาบันการเงินลอตแรก 30,000 ล้านบาท จากที่ได้ทยอยลงนามในสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงินรวม 105,300 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้สามารถจ่ายคืนเงินกู้งวดแรกได้ ทาง สกนช. จึงมีทางเลือกที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

1. ถ้าราคานํ้ามันอยู่ในระดับ 95-105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทางกระทรวงพลังงานจะต้องขอให้กรมสรรพสามิตลดภาษีดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เหมือนที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พร้อมกับทาง กบน. จะต้องขยับเพดานราคาดีเซลขึ้นไปถึง 2-3 บาทต่อลิตร คือราคาขายปลีกดีเซลขยับเป็น 32-33 บาทต่อลิตร หากกระทรวงการคลังไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิตอีกต่อไป จำเป็นต้องขยับราคาขายปลีกดีเซลเป็น 35 บาทต่อลิตร ซึ่งทั้งสองวิธีข้างต้น ทาง กบน. ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องขึ้นราคาดีเซล

2. หากปรับลดภาษีดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสามารถตรึงราคาขายปลีกดีเซลไว้ได้ที่ 30 บาทต่อลิตร และยังสามารถจัดเก็บเงินเข้ากองทุนนํ้ามันดีเซล เพื่อใช้หนี้ธนาคารได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินที่กู้ยืมมา อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือราคานํ้ามันดีเซลในตลาดโลกยังมีความผันผวน ไม่แน่นอน ต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ถ้าราคาดีเซลในตลาดโลกตํ่ากว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้การบริหารกองทุนมีสภาพคล่องดีขึ้น

อนึ่ง ในการปรับขึ้นราคานํ้ามันดีเซลควรทยอยปรับครั้งละ 0.60-0.80 บาทต่อลิตร ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการตรวจสต๊อก และไม่มีการเก็งกำไร โดยไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า เหมือนกับการปรับขึ้นลงของราคานํ้ามันตามกลไกตลาดที่ผ่านมา อีกสิ่งที่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าวิกฤติการณ์นี้ไม่ได้เป็นวิกฤติการณ์ด้านราคาแต่เป็นวิกฤติสภาพคล่องของกองทุนนํ้ามันฯ ที่มาจากการตรึงราคาขายปลีกนํ้ามันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มาเป็นเวลานาน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรร่วมกันประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจังกันอีกครั้ง.