เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 เม.ย. 67 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ศาลรัฐธรรมนูญจัดอภิปรายหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยมีนายปัญญา อุชชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และนายภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โดยนายปัญญา กล่าวว่า การทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาประเทศเยอรมนี ที่ผ่านมาได้มีบทบาทสำคัญผ่านคำวินิจฉัยสำคัญๆ อาทิ การคุ้มครองหลักความเสมอภาคในสิทธิสตรี คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้พิการ ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายอุดม กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นบทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร ไม่ใช่แค่กรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหาทางการเมืองหลายๆ เรื่อง โดยเป็นปัญหาที่มีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน ไม่สามารถหาทางออกด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ จึงต้องมาหาศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยหาทางออก หากว่าฝ่ายที่กำหนดนโยบายไม่ว่าฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตกลงกันได้ มีความเห็นตรงกัน ก็ไม่ต้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก

ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า บทบาทการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น ความจริงตัวรัฐธรรมนูญมีกลไกพิทักษ์ตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใด ที่กำหนดให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีผลบังคับใช้อยู่ แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถทำได้ 2 ครั้งในปี 2489 และปี 2540 ซึ่งขณะนี้ตนยังมองไม่ออกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งฉบับจะสำเร็จได้ในปีไหน และยังไม่มั่นใจว่ารัฐสภาจะสามารถให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเพียงว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ดังนั้นประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะยังเป็นปัญหาในสังคมอีกระยะหนึ่ง และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ด้านนายภูมิ กล่าวว่า หากมองปัญหาการเมืองและสภาพสังคมในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความท้าทายในการทำหน้าที่มากขึ้น เนื่องจากสังคมมีความขัดแย้งในหลายมิติ ซึ่งไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตีความปัญหาอย่างไร ก็จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยออกมาชื่นชม และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาโจมตี.