ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศอบอวนด้วยหมอกควัน ปริมาณฝุ่นละอองฟุ้งปกคลุมท้องฟ้า แถมยังเกิดปัญหาสารเคมีรั่วไหลลงไปปนเปื้อนสู่พื้นที่สาธารณะต่างๆ   

ที่จริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งเรื่องที่ท้าทาย และเป็นโจทย์สุดหินตลอดกาลที่ทั้งผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะยุคไหน และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในบ้านเรายังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ขณะที่บรรดานักการเมืองยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มากพอ ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร

เมื่อดูองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ก็พบว่ากระจัดกระจาย หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีมากมายถึง 9 กระทรวง 12 กรม 3 สำนักงาน และ 1 คณะกรรมการ คือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่สามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจนี้แทนได้

ด้วยโครงสร้างลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ส่งผลให้การทำงานขาดความเป็นเอกภาพ ขณะที่บอร์ดกก.วล.ถูกมองว่าเป็นเหมือนเสือกระดาษ บวกกับมีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เรื่องเงินๆทองๆ และการทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามาแทรกซ้อน ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดจุดอ่อนในการแก้ปัญหา

เห็นได้จากปัญหาหมอกควันและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่อาจไม่มีวันหมดไป แม้รัฐบาลชุดที่แล้วยกระดับให้เป็น“วาระแห่งชาติ” และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ.2562 –2567 แต่สุดท้ายไม่ไปถึงไหน

มาสู่ยุค“รัฐบาลเศรษฐา”ก็ยังเผชิญปัญหาเรื้อรังนี้ ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขสถานการณ์และจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง รวมถึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด แต่ปัญหานี้ยังไม่มีวี่แววว่าเมื่อไหร่หนอที่มันจะจางหายให้ท้องฟ้ากลับมากระจ่างใส ประชาชนหายใจได้เต็มปอด

ล่าสุดยังเกิดปัญหาพบกากสารแคดเมียม 13,832.10 ตัน ถูกขนย้ายจากโรงงานในจ.ตาก มายังโรงงานในจ.สมุทรสาคร และยังพบสารนี้จำนวนมากซุกอยู่ในโรงงานอีกหลายแห่งในจังหวัดอื่นๆ ยิ่งทำให้สังคมสะพรึงกลัวต่อพิษที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหานี้ สืบหาข้อเท็จจริงและข้อบกพร่อง พร้อมหามาตรการแก้ไขเฉพาะหน้า

โดยรวมแล้วถือว่าภาครัฐมักใช้วิธีตั้งทีมเฉพาะกิจ ตั้งวอร์รูมมาสั่งการแก้ไข แต่ผลงานที่ได้กลับยังไม่เป็นรูปธรรม ในเมื่อปัญหามลพิษรุมเร้าไม่รู้จบอย่างนี้ คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องใส่ใจ ยกเครื่องการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

หากยังแก้ไขแบบไฟไหม้ฟาง มันอาจเผาไหม้ทำลายสุขภาพประชาชนและลุกลามทำลายเศรษฐกิจชาติได้เช่นกัน.

พิราบ บานเย็น