“Sustainable Daily Talk 2024” หัวข้อ Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ที่ผ่านมาเปิดเวทีเสวนาโดยผู้นำองค์กรธุรกิจที่เดินหน้าด้านความยั่งยืนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแชร์ประสบการณ์เชิงลึก ที่ทำแล้วเกิดขึ้นจริง และรวมถึงแนวทางที่ภาคธุรกิจ นักศึกษา ประชาชนได้นำไปปรับใช้ร่วมขับเคลื่อนสร้างผลลัพธ์ใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เซฟโลกสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

“หลายบริษัทยังมีความเชื่อว่า การจ่ายเรื่อง Sustainability ไม่คุ้มค่า เพราะว่า ข้อมูลมีจำกัด (Miss Perception that Sustainability is Costly จ่ายไป ไม่เห็นผล หรือไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่แท้จริงโลกกำลังเปลี่ยน ตลาดของโลกกำลังให้ความสำคัญทางด้าน Sustainability มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ยกตัวอย่างบริษัทแอปเปิ้ลซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นองค์กร net zero ภายในปี 2030 และไม่ใช่แค่ในองค์กร แต่ตั้งเป้าไปยังพันธมิตรใน Value Chain ต้องเป็น net zero” นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโน พาวเวอร์ จำกัด ระบุในเวทีของเดลินิวส์

ทำทันที คือคำตอบ

ความต้องการพลังงานสะอาดเพื่อเปลี่ยนโลก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มักถูกเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวทีระดับสากล : Action for Change : การเปลี่ยนธุรกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืน ควบคู่กับการนำเอานวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขัน และองค์กรธุรกิจที่ขาดสองสิ่งนี้จะแข่งขันได้ยากมากในอนาคต นายอธิปได้หยิบยกการพูดคุยกันและมุมมองจากเวที World Economic Forum เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเป็นมุมมองที่ตรงกับสถาบันวิจัยทางด้านเศรษฐกิจในระดับโลกหลายแห่งที่คาดการณ์ว่า ในปี 2567 น่าจะได้เห็นการลงทุนในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนเพาเวอร์ จำกัด เชื่อมั่นว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความตระหนักรู้ในเรื่องความยั่งยืนค่อนข้างเยอะ แทบทุกบริษัทมีเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ลดลง และ net zero แต่การขับเคลื่อนยังมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งมาจาก 3 เหตุผลคือ Sustainability Action ต่าง ๆ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ความรู้ยังจำกัด (Gap of Knowledge & Expertise about Sustainability) ยกตัวอย่างการ ตั้งเป้า net zero, carbon neutrality หรือ decarbonization ซึ่งแตกต่างกัน ต่างกันอย่างไร ต้องรู้ให้แท้จริง

“สิ่งที่สำคัญที่สร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานได้คือ ต้นทุน หากผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่าย ต้นทุนเรื่องกรีนมากจะไม่สามารถแข่งขันได้ หรือความมั่นคงทางด้านพลังงาน ถ้าผู้ประกอบการกรีนบ้าง ไม่กรีนบ้าง บางช่วงผลิตไฟบ้าง ไม่ผลิตไฟบ้าง ก็คงไม่ส่งเสริมความยั่งยืนที่แท้จริงได้ จึงต้องมีความรู้ และมีนวัตกรรมมาส่งเสริม  เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง…การจัดสรรทรัพยากร (Resource) ไปยังธุรกิจหลัก แม้ว่าจะมีงบประมาณที่จำกัด แต่ก็ สามารถแก้ได้โดยเทคโนโลยี” นายอธิป กล่าว

เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องร่วมมือกัน

อินโนพาวเวอร์ เกิดจากการร่วมทุน ระหว่าง บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ สร้างความยั่งยืน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ได้กำหนด “พันธมิตร พิชิตคาร์บอน” หรือ Decarbonization Partner  เป็นธีมและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจตลอดปี 2567

4 Action กระบวนการลดคาร์บอนฯ

การทำ decarbonization หรือกระบวนการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์มี 4 ด้าน คือ 1.สร้างความตระหนักรู้ จุดเริ่มต้นของการไปให้ถึงเป้า decarbonization ที่แท้จริง หากคุณไม่รู้ว่าคุณจะใช้ไฟอย่างไร หรือว่าเครื่องมือ ต่าง ๆ กินไฟไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเข้าถึง  เป็นจุดสำคัญ เป็นสเตปแรกของแอ็กชันที่จะเข้าถึงเรื่องนี้ 2.ผู้ประกอบการมีความต้องการสร้างผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือการซ่อมแซม ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ในช่วงต้น 3.การเข้าไปสู่สาเหตุแท้จริงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะอยู่ตรงไหน และ 4.การทำงานเชิงรุก (Pro Active)

จับมือพันธมิตรลดก๊าซเรือนกระจก

อินโนเพาเวอร์เรายังพร้อมที่จะร่วมลงทุน และเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพต่าง ๆ รวมถึงจับมือพันธมิตร เพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่าน ลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่อีวีซึ่งผลของปีที่ผ่านมา การทำ decarbonization เป็นโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่เป็นพรีเมียม ปีที่แล้วบริษัทโตประมาณ 700% จากการทำธุรกิจเกี่ยวกับ decarbonization และ มีพาร์ทเนอร์มากกว่า 80 แห่ง สิ่งที่สำคัญ จากเป้าหมายของเราสามารถลดคาร์บอนเทียบเท่าได้กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ไปมากกว่า 1 ล้านตัน อาจจะยังเล็กถ้าเทียบกับทั้งหมดของประเทศไทย แต่เราก็เป็นบริษัทหนึ่งที่มีความหวังที่อยากจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมของไทยดีขึ้น เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 45 ล้านต้น

อย่างพันธมิตร Western Digital เป็นบริษัทที่เข้ามาปรึกษาซึ่งบริษัทได้ขายผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีการพูดคุยถึง EV Solution เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2032 ได้ และอีกบริษัท CHOOOSE โดยสามารถ offsets ได้เมื่อเดินทาง หรือเท่ากับเป็นการเดินทางอย่างรับผิดชอบ เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมช่วยขับเคลื่อนในด้าน decarbonization ได้ดีขึ้น และตัวอย่างสุดท้าย บริษัทเป็นพันธมิตรกับ EGAT โดยได้ช่วยเปลี่ยนผ่านจากบัสสันดาป เป็นบัสอีวีที่แม่เมาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ดีขึ้น ทั้งช่วยดีไซน์ชาร์จจิ้ง ติดตั้งที่ไหนบ้าง ฯลฯ

คงต้องบอกว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทุก ๆ คน เราเองก็เป็นแค่บริษัทเล็ก ๆ บริษัทหนึ่งที่มีความฝันที่อยากจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดใหม่ ๆ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคตสำหรับลูกหลานเรา อยากเชิญชวนทุกคนช่วยกัน Action for change เพื่อให้เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]