เขตสงวนแห่งนี้ เป็นสถานที่ปลอดภัยของสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ นานา ที่อาศัยอยู่ในน่านนํ้ารอบหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่ง นายชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวสหราชอาณาจักร ค้นพบแรงบันดาลใจสำหรับทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขาที่นี่

ทว่าภายนอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสิ่งกีดขวางทางกายภาพใด ๆ กลับไม่มีการคุ้มครองทะเลหลวง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันเหล่านี้ ตกอยู่ในความเสี่ยง

นายสจวร์ต แบงก์ส นักวิทยาศาสตร์อาวุโสทางทะเล จากมูลนิธิชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวบนเรือวิจัย “อาร์กติก ซันไรส์” ขององค์กรสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ว่า ปลาฉลามหัวค้อน, เต่า, อิกัวนา, สิงโตทะเล และปลาที่เจริญเติบโตในกาลาปากอส ไม่เข้าใจ “พรมแดนการเมือง” นั่นหมายความว่า พวกมันจะเดินทางไปมาระหว่างดินแดนที่แตกต่างกัน และตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิ่งต่าง ๆ เช่น การประมงเชิงอุตสาหกรรม และการจับสัตว์นํ้าพลอยได้

แม้กรีนพีซระบุว่า แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การทำให้พื้นที่มหาสมุทรกว้างขึ้น โดยสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งแรกในทะเลหลวง ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส อย่างไรก็ตาม สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีอย่างน้อย 60 ประเทศ ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรองเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน

ทั้งนี้ เขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส ซึ่งมีขนาดเกือบ 200,000 ตารางกิโลเมตร เป็นหนึ่งในพื้นที่สงวนขนาดใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลก โดยมีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 3,000 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถพบเจอที่อื่นได้

เรือวิจัยอาร์กติก ซันไรส์ เดินทางไปยังหมู่เกาะกาลาปากอสในเดือนนี้ เพื่อปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบภัยคุกคามต่อเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอสซึ่งกรีนพีซอธิบายว่ามันอาจเป็นโครงการอนุรักษ์ซึ่งดำเนินการในมหาสมุทรที่ดีที่สุด

ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ทำการทดสอบตัวอย่างนํ้า และตรวจสอบจำนวนปลาและความชุกชุม เพื่อระบุชนิดพันธุ์ เส้นทางการอพยพ และความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการสำรวจแนวปะการัง ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่สำคัญ

ด้านนาง โซฟี คุก ผู้นำการสำรวจ กล่าวว่า หมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นจุดอพยพสำคัญสำหรับสัตว์หลายชนิด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการเชื่อมต่อพื้นที่คุ้มครองทางทะเลต่าง ๆ และปกป้องเขตสงวนเหล่านี้ไว้ เพื่อรักษาเส้นทางการอพยพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้.

แมวแว่น