สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ว่า นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาพบฟอสซิลของอิกทิโอซอร์ ที่รู้จักกันในยุคแรกสุด ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2 ล้านปี หลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เป็นจุดสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียน โดยการค้นพบกระดูกสันหลังส่วนหาง 11 ชิ้น บ่งชี้ว่า สัตว์ตัวนี้มีความยาวประมาณ 3 เมตร ทำให้มันเป็นสัตว์นักล่าอันดับต้น ๆ ของโลก

เช่นเดียวกับวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร อิกทิโอซอร์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์บรรพบุรุษบนบกที่ย้ายมาอาศัยในทะเล

นักวิจัยคิดว่าอิกทิโอซอร์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 250 ล้านปีก่อนจะเป็นรูปแบบดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ค่อยแตกต่างจากสัตว์บรรพบุรุษบนบก อีกทั้งฟอสซิลที่ยังไม่ได้รับชื่อวิทยาศาสตร์นี้ แสดงให้เห็นว่า มันค่อนข้างมีความก้าวหน้าทางกายวิภาค และอาจเป็นไปได้ว่า ต้นกำเนิดของอิกทิโอซอร์เกิดขึ้น ก่อนเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ถึง 20 ล้านปี

ทั้งนี้ สถานที่พบฟอสซิลเป็นภูมิประเทศอาร์ติกแบบทั่วไป ด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมตามแนวชายฝั่งของฟยอร์ดลึก โดยซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ โผล่ตามร่องแม่น้ำที่หิมะละลายตัดผ่านชั้นหิน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโคลนที่ก้นทะเล

แม้ในทุกวันนี้ เกาะสปิตส์เบอร์เกนจะมีหมีขั้วโลกและวาฬเบลูกาอาศัยอยู่ แต่สำหรับ 250 ล้านปีก่อน ทะเลแห่งนี้เต็มไปด้วยปลา, ปลาฉลาม, สัตว์จำพวกหอยทะเลคล้ายหมึกที่มีกระดอง หรือแอมโนนอยด์ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในทะเลคล้ายจระเข้ที่เรียกว่า เทมโนสปอนดิล

จนถึงขณะนี้ สมาชิกเก่าแก่ที่สุดของสายพันธุ์อิกทิโอซอร์ คือ “คาร์โตรินคัส” สิ่งมีชีวิตที่มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 248 ล้านปีก่อนในจีน.

เครดิตภาพ : REUTERS