เมื่อวันที่ 21 มี.ค. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า วันที่ 21 มีนาคม 2566 เป็น วันวสันตวิษุวัต อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด หรือ Vernal Equinox ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

ซึ่งวันดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือ ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือ เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2566 โดยแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ เคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี

สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.21 น. และตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกใต้

ทั้งนี้ ฤดูกาลเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

ส่วนปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ วันครีษมายัน (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

สำหรับวันวสันตวิษุวัต เป็นวันหยุดราชการในประเทศญี่ปุ่น และหนึ่งในช่วงระยะเวลา 7 วันที่เรียกว่า “ฮารุ โนะ ฮิกัง” ตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างช่วงวันที่ 20 และ 21 ของเดือนมีนาคม ของทุกปี [2] รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้วันวสันตวิษุวัติ เป็นวันหยุดราชการแทนวัน “ชูกิ โคเรไซ” ที่มีความเป็นศาสนาเสียมากกว่า เมื่อปี ค.ศ. 1948 และยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในวันดังกล่าว ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ เมื่อเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน พระพุทธเจ้าจะช่วยวิญญาณเร่ร่อนก้าวข้ามผ่านระหว่างโลกกับนิพพาน เพราะฉะนั้น ครอบครัวในญี่ปุ่นจึงเดินทางมายังหลุมศพของบรรพบุรุษของตน ทำความสะอาด วางดอกไม้ และไหว้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพหลุมศพ นอกจากนี้ยังถวายโบตาโมจิ ขนมที่ทำจากข้าวหวานและถั่วแดง เป็นความเชื่อที่ว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว จะช่วยบรรพบุรุษก้าวข้ามไปสู่นิพพานได้

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ