เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 31 ส.ค. ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงถึงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 ขณะนั้นวัคซีนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ พบว่าวัคซีนสามารถลดการระบาดของโรคได้ และพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่ระดับ 70-80% ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันโรคโควิดได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนไฟเซอร์ก็ตาม ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสูตรฉีดวัคซีนที่เรียกว่า สูตรไขว้ โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มหนึ่งและวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสอง และพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาสองเข็ม แต่ข้อดีคือฉีดได้เร็วขึ้นและภูมิคุ้มกันมากขึ้น ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ นักวิชาการจากหลายที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันว่าวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค พยายามจัดหาวัคซีนที่ค้นหาได้มาให้กับประชาชนอย่างทันเวลา

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก จึงเป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงต้นการระบาดที่ผ่านมา แม้ขณะนี้จะมีการระบาดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่เราก็ยังหาวิธีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ที่ทำให้ประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วขึ้น ยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้ช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และจะพยายามเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายจึงไม่เป็นความจริง

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.อภิปรายว่า อภ. เป็นนายหน้าขายวัคซีนให้กับบริษัทซิโนแวค ในช่วงการแพร่ระบาดตอนแรก อภ. ไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อโดยตรง แต่เป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งทำหน้าที่ แต่ทางการจีนไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้ อภ. ต้องไปติดต่อเอง ก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนคู่ประสาน ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งซิโนฟาร์มติดขัดปัญหามาก แต่ว่าซิโนแวคมีความยืดหยุ่นกว่า เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเลือกซิโนแวคเพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนระหว่างรอวัคซีนแอสตราเซเนกา ส่วนเรื่องราคามีการนำเข้า 16 ช่วง ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไปแต่ละช่วง ตั้งแต่ 17 ดอลลาร์ต่อโด๊ส แต่ในเวลาต่อมาเราก็ซื้อในราคาถูกเป็นลำดับ เพราะมีการต่อรองราคา จนมาถึงราคาสุดท้าย 8.9 ดอลลาร์ เฉลี่ยราคา 11.99 ดอลลาร์ ส่วนที่มีการอภิปรายว่ามีส่วนต่างจำนวนมาก ของชี้แจงว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเราได้ใช้เงิน อภ. จัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้น เมื่อได้ของแล้วก็กำหนดราคาขาย ซึ่งเราต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน ยืนยันว่า ไม่มีส่วนต่าง กรอบการอนุมัติเป็นการขอเผื่อไว้ แต่เมื่อมีการเรียกเก็บก็เก็บราคาตามจริง โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง 2-4% และส่วนต่างที่เหลือไม่มีใครได้แน่นอน 100% ซึ่งงบประมาณตรงนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล และมีการเบิกจ่ายตามจริง

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน กล่าวถึงสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้ทำการสั่งซื้อว่าซื้อล่วงหน้าตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 63 ดังนั้นการสัญญาการจองซื้อต้องอยู่ในเงื่อนไข ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องใช้สัญญาในลักษณะเดียวกัน และมีโอกาสไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนในลักษณะช้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา และอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป ที่มีความไม่แน่นอนในการวิจัยและพัฒนาการผลิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขทุกประเทศ และทุกคนต้องรับความเสี่ยงร่วมกันในระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกันเนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จะเอาพื้นฐานความเข้าใจแบบเดิมมาใช้ในการตัดสินในสัญญาการจัดซื้อล่วงหน้าจะไม่เหมาะสมและไม่เข้ากับสถานการณ์

นพ.นคร กล่าวต่อว่า ส่วนการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) นั้น มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 139 ประเทศ แต่มีการแจกวัคซีนเพียง 224 ล้านโด๊ส จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศได้รับวัคซีนไม่มาก การที่เราจัดซื้อวัคซีนโดยตรงทำให้เราได้รับวัคซีนมากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า ซึ่งตอนนี้เราได้รับวัคซีนและฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 30 ล้านโด๊ส ถ้าเราเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อาจจะไม่มีความแน่นอนในการได้รับวัคซีน และอาจได้รับวัคซีนที่น้อย เพราะเป็นการจัดหาโดยโครงการขนาดใหญ่ มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก และหากไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจัดซื้อ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าถ้าเราจัดซื้อเองจากผู้ผลิตวัคซีนจะมีความแน่นอนกว่า จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่ในอนาคตหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยอาจจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการก็ได้.