เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูแลพบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ตนได้รับมอบหมายจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ให้ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ซึ่งประชุมได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอในการขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด สพฐ. ในส่วนของการสอบสัมภาษณ์ภาค ค ให้ปรับลดการสาธิตทักษะการสอนจากเดิม 45 นาที เหลือ 20 นาที ขณะนี้การออกข้อสอบจากเดิมส่วนกลาง สพฐ. จะเป็นผู้กำหนดการจัดสอบ ปรับเป็นให้เขตพื้นที่รวมกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ดำเนินการจัดสอบและออกข้อสอบแทน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป สพฐ. จะไปกำหนดปฏิทินการรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยต่อไป ซึ่งคาดว่าในต้นเดือน พ.ค. นี้ จะประกาศปฏิทินการรับสมัครได้

             

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการปรับเกณฑ์การตัดสินตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว 9-ว 11/2564 ซึ่งเป็นการเปิดระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal :  DPA) หรือ ว.PA ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งเกณฑ์การตัดสินดังกล่าวจากเดิมที่ ก.ค.ศ. กำหนดให้เป็นฉันทามติให้ผ่านเกณฑ์ประเมินดังกล่าวจากคณะกรรมการ 3 คน ปรับใหม่เป็นเหลือการตัดสิตจากคณะกรรมการแค่ 2 ใน 3 เท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะทำให้ข้าราชการครูไม่เกิดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการในวิชาชีพอื่น สำหรับกลุ่มที่มีการยื่นขออนุมัติตามเกณฑ์ประเมิน ว.PA ไปแล้ว และอยู่ในระบบของ กคศ. มีประมาณ 6,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีกลุ่มผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินจากคณะกรรมการ 2 ใน 3 อยู่พอสมควร ซึ่ง กคศ. จะดึงเรื่องกลับมาอนุมัติให้ใหม่ต่อไป