สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ว่า การตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาประกาศในลักษณะเดียวกัน มีขึ้นหลังจากการพูดคุยระหว่างเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย กับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดา นอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีที่แล้ว

กระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลริยาดตัดสินใจที่จะฟื้นฟูระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับแคนาดา ให้กลับสู่สถานะเดิม ขณะที่ นางเมลานี โจลี รมว.การต่างประเทศแคนาดา กล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่

“การปรองดองกันในครั้งนี้เกิดจากความปรารถนาของทั้งสองฝ่าย ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงผลประโยชน์ร่วมกัน” กระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ระบุ

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2561 เกิดขึ้นจากการที่ทางการซาอุดีอาระเบียปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี โดยแคนาดาในเวลานั้น “แสดงความกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการจับกุมนักรณรงค์สิทธิระลอกใหม่ และเรียกร้องให้รัฐบาลริยาด “ปล่อยตัวกลุ่มนักเคลื่อนไหวทันที”

ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเนรเทศเอกอัครราชทูตของแคนาดา และเรียกเอกอัครราชทูตของตนเอง ประจำกรุงออตตาวา ให้เดินทางกลับราชอาณาจักร ตลอดจนระงับการค้าใหม่ทั้งหมด

แม้ซาอุดีอาระเบียจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระการปฏิรูป “วิสัยทัศน์ 2030” หรือ วิชั่น 2030 แต่บรรดานักวิจารณ์ยังคงมีความกังวล ในประเด็นสิทธิมนุษยชนอยู่เช่นเคย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES