เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต้อนรับข้าราชการบรรจุใหม่ซึ่งเป็นคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. คณะผู้บริหารสำนัก พร้อมด้วยข้าราชการพี่เลี้ยง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับข้าราชการบรรจุใหม่
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับเพื่อนใหม่ ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกคน และต้องขอยืนยันว่าทุกคนไม่ได้ถูกรับเลือกเพราะว่าเป็นคนพิการ แต่เป็นเพราะมีความสามารถเหมือนคนทั่วไป มีการแข่งขันเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าการที่ทุกคนได้มาทำงานใน กทม. จะทำได้อย่างเต็มศักดิ์ศรี รวมถึงจะทำให้เพื่อน ๆ ใน กทม. เข้าใจชีวิตของคนที่แตกต่างกับตนเองได้มากขึ้น
ในกรุงเทพฯ เรามีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องการเดิน การได้ยิน การเคลื่อนไหว ถ้าเราสามารถโอบกอดทุกคนที่มีความแตกต่างกันได้ สังคมก็จะดีขึ้น เหมือนกับนโยบายเราที่ให้ไว้ว่า กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่เฉพาะคนที่เดินได้ คนที่ได้ยินปกติ หรือว่าคนที่มองเห็นปกติ แต่ทุกคนต้องสามารถอยู่ด้วยกันได้ การที่ในวันนี้มีทุกคนมาเป็นทีมงาน จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าเรามีเพื่อนที่มีความแตกต่างกับเราอีกเยอะในกรุงเทพฯ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเรื่องการเดินทาง การฝึกอาชีพ การให้โอกาสเรื่องงาน เราต้องคิดถึงเพื่อน ๆ เราเหล่านี้ด้วย
Mindset ในโลกมี 2 แบบ คือ Fixed mindset และ Growth mindset โดย Fixed mindset คือคนที่เชื่อในโชคชะตา เชื่อในบุพเพสันนิวาส เชื่อว่าทุกอย่างถูกฟ้ากำหนดมาแล้ว เช่น หลาย ๆ คนที่เป็นเหมือนพวกเราทุกคนวันนี้ อาจจะคิดท้อใจหรือโทษโชคชะตาชีวิตว่าชีวิตกำหนดให้เราเดินไม่ได้ ให้เกิดอุบัติเหตุ ให้เกิดมามีร่างกายไม่ครบ แล้วก็อาจจะท้อถอย ไม่อยากทำอะไร แต่ทุกคนที่มาในวันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่มี Growth mindset คือไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ทุกอย่างคือสิ่งที่เราทำได้ถ้าเราพยายาม
มีคำพูดอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากพวกเราทุกคน เป็นบทกวีชื่อ “Invictus” หรือ “ผู้ไม่ยอมสยบ” ของวิลเลียม เออร์เนส เฮนเล่ย์ เป็นบทกวีที่อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนแดลา ประทับใจมาก และนำมาใช้ให้กำลังใจตนเองในระหว่างต้องโทษจำคุก โดยในกระดาษที่เขาอ่านทุกเช้าเป็นภาษาอังกฤษว่า “I am the master of my fate. I am the captain of my soul.” เราคือเจ้านายแห่งชะตาชีวิต และเราคือกัปตันแห่งจิตวิญญาณของตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีข้อที่ข้อจำกัดที่เราเลือกไม่ได้ แต่สุดท้ายเราก็เป็นเจ้านายชะตาชีวิตตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เรามาเป็นเพื่อนใหม่กัน มาร่วมงานกัน ก็ขอให้ทุกคนคิดถึงศักดิ์ศรีของชาว กทม. ร่วมกันทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุดและร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ยินดีต้อนรับและขอแสดงความยินดีกับทุกคน รวมถึงต้องขอขอบคุณพวกเราทุก ๆ คนที่โอบกอดเพื่อนใหม่ของเราด้วยความอบอุ่น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ได้ดำเนินการคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ด้านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการส่งเสริมให้คนพิการที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมกับลักษณะงานของกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสเข้าทำงานมากขึ้น
และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการให้มีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี ประกอบกับเป็นการสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครสามารถรับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
สำหรับการดำเนินการคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 มีผู้สมัครสอบ 585 คน ผ่านการคัดเลือกฯ 9 คน แบ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 7 คน และคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 2 คน ซึ่งจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) 3 คน สำนักการแพทย์ 2 คน สำนักการศึกษา 1 คน สำนักพัฒนาสังคม 1 คน สำนักอนามัย 1 คน และสำนักงานการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1 คน
นายชัชชาติ กล่าวภายหลังกิจกรรมต้อนรับว่า เมืองมีหน้าที่สำคัญในการดูแลทุกคน ซึ่งบางเมืองอาจทำให้คนพิการรู้สึกพิการมากขึ้นเพราะเขาอยู่ลำบาก แต่ถ้าหากเราทำเมืองให้ดีจะทำให้คนพิการรู้สึกพิการน้อยลง สามารถอยู่ได้อย่างสะดวก อิสระมากขึ้น โดยสิ่งที่กรุงเทพมหานครทำมีดังนี้ 1. การเดินทาง ปรับทางเท้า/ห้องน้ำให้เป็น Universal Design ก็จะเริ่มเห็นผลมากขึ้น เพราะอยู่ในมาตรฐานการออกแบบ 2. การฝึกอาชีพให้คนพิการ 3. การบรรจุคนพิการ ทั้งในรูปแบบของลูกจ้าง อาสาสมัคร และข้าราชการ เพื่อให้เห็นว่าคนพิการที่ทำงานได้ยังมี และเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการรายอื่น รวมถึงเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่น และ 4. การให้คำปรึกษา/ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่คนพิการอย่างทั่วถึง เพราะการดูแลคนพิการไม่ใช่การปรับปรุงแค่ทางเท้าให้มีทางลาดเท่านั้น แต่หมายถึงดูแลในหลากหลายด้าน เพื่อให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ทุกมิติ
สำหรับในครั้งนี้มีผู้มาสอบ 585 คน ได้รับการบรรจุ 9 คน และยังมีอีกกว่า 120 คน ที่สอบผ่านเกณฑ์และอยู่ในฐานข้อมูล ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่เรารับคนพิการเข้ามาเป็นข้าราชการด้วยการสอบตรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญตามนโยบายทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย หากเราสามารถดูแลทุกคนที่มีความแตกต่างนี้ได้ เมืองจะน่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
ด้านนายภาณุมาศ กล่าวว่า การต่อสู้เรื่องคนพิการทั้งเจตคติ/ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ ดีใจที่ข้าราชการ กทม. ทุกคน ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ถูกต้องจากการเห็นคนพิการที่สอบและได้เข้ามาทำงาน ในส่วนของกรุงเทพมหานครต่อไปก็จะได้เห็นน้อง ๆ เข้ามาทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานราชการอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันยังรับคนพิการเข้าไปทำงานน้อยอยู่ หากอยากได้ข้อมูลอะไรกรุงเทพมหานครยินดี
น.ส.ทวิดา กล่าวเสริมว่า ในส่วนของปีต่อ ๆ ไป เราตั้งใจจะรับคนพิการให้มากขึ้น โดยสำนักงาน ก.ก. เป็นผู้ดูแลเรื่องของสัดส่วน มีกรรมการที่กำหนดสัดส่วนให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้ เราได้มีการพยายามดูแลในเรื่องของกายภาพ สภาพในการทำงาน รวมถึงจะมีการขยายไปในกลุ่มของครู เพื่อให้คนสอนได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะทำให้สามารถไปดูแลน้อง ๆ นักเรียนได้ดีขึ้นด้วย.