เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน” โพสต์ภาพตราแผ่นดิน ประกบกับภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ พร้อมข้อความระบุว่า “2499 อันธพาลครองเมือง…. สู่ 2565”

” ปุ๊ ระเบิดขวด” “ดำเอสโซ่” “แดงไบเล่”….. เป็นชื่อคนส่วนหนึ่ง ของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “อันธพาลครองเมืองยุค 2499” คนที่อายุน้อยกว่า 66 ปี จะเกิดไม่ทัน ปีนั้นกระผมเองอายุแค่ 1 ขวบ ชงนมกินเองยังไม่ได้เลย ไม่ได้มีโอกาสสัมผัส… แต่เมื่อศึกษาประวัติความเป็นมา จึงทราบว่าทั้งถูกทางการปราบปราม และเข่นฆ่ากันเองจนสูญพันธุ์ไปในที่สุด……

บทบาทของกลุ่มอันธพาลครองเมืองก็จะเกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของธุรกิจสีเทา – สีดำ คอยปกป้องให้ความคุ้มครอง ออกหน้าท้ารบแทนธุรกิจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนัน โรงยาฝิ่น ซ่องโสเภณี โรงกัญชา(ขออภัยยุคนั้นยังไม่มี) ……

66 ปีผ่านไป อันธพาลครองเมืองที่คอยปกป้องคุ้มครอง อยู่เบื้องหน้า เบื้องหลังธุรกิจสีเทา-สีดำ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของคนไทยหรือคนต่างชาติจะยังมีอยู่อีกหรือ……… ยังออกมาแบกหน้าท้าทายอำนาจรัฐได้อีกหรือ? นี่มันปี พ.ศ.ไหนแล้วละ??

เรื่องนี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของสอง รอง ผบ.ตร. ได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งสองท่านต่างก็มีทั้งกำลังภายนอกและกำลังภายในไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และคาดหวังที่จะชิงธงตำแหน่ง ผบ.ตร. ในอีกสิบเดือนข้างหน้านี้ด้วยกันทั้งสองคน บททดสอบนี้ยังถือว่าเล็กไปสำหรับตำแหน่งใหญ่ที่ทั้งสองท่านต้องการ แต่ก็พอเป็นบททดสอบให้สังคมได้รับรู้ได้บ้าง รีบแสดงฝีมือออกมาอย่าให้เกิดเป็น ” 2565 อันธพาลครองเมือง” ขึ้นอีกก็แล้วกัน

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา มีบทบัญญัติที่จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนโดยเฉพาะแหล่งอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนัน สถานบริการแหล่งมั่วสุมยาเสพติด ค้ามนุษย์อันเป็นบ่อเกิดของแก๊ง ก๊วนอันธพาลครองเมือง โดยได้สร้างองค์กรอิสระคือ “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” หรือ ก.ร.ตร. ขึ้นไว้เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระที่ประชาชนจะได้ชี้ช่อง เบาะแสของธุรกิจ ธุรกรรมที่ผิดกฎหมายสีเทา-สีดำ เพื่อที่จะได้ให้มีการดำเนินการเสียตั้งแต่ต้น จะได้ไม่มีการเพาะบ่มจมปลักอยู่จนกระทั่งมีการสร้างอิทธิพลมีคนเป็นอันธพาลครองเมืองขึ้น เดิมทีไม่มีหน่วยงานนี้ประชาชนมักไม่กล้าที่จะให้เบาะแสกับตำรวจโดยตรง จะด้วยไม่ไว้วางใจหรืออย่างไรก็ตามที ….

แต่หน่วยงานนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นจะต้องมีกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ตร)ซึ่งกำหนดให้ต้องมีภายใน 180 วันนับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เสียก่อน ซึ่งที่มาของ ก.ตร. จะมาจากการเลือกตั้งโดยให้ข้าราชการตำรวจระดับรองผู้กำกับการขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก และกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการออกประกาศหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดการเลือกตั้งเลย……

คงต้องรอให้ถึง 179 วันก่อนละมั้ง คำว่าภายใน 180 วัน คือ วันนี้ พรุ่งนี้ ทำเสร็จเร็วยิ่งดี ทราบกันบ้างไหมล่ะครับว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหา ประชาชนเขาจะถามว่าพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่เปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นบ้าง? ทำอะไรได้บ้าง? หน่วยงานตำรวจมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง? เรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งก็ถูกดึงถูกรั้งให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมโดยใช้บทเฉพาะกาลออกไปอีก 180 วัน แล้วยังไม่พอ ในส่วนที่ไม่มีบทเฉพาะกาลก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ให้สมกับที่ประชาชนรอคอยมาเป็นเวลานาน หากไม่แล้วประชาชนก็คงจะรู้สึกผิดหวัง(หรือไม่รู้สึกผิดหวังเพราะไม่ได้หวังอะไรเลย) กันอีกต่อไป

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 7 พ.ย. 2565

ขอบคุณ ข้อมูล – ภาพ เพจ ‘พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน’