สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เรียกว่า “การตั้งท้องบริสุทธิ์” หรือการให้กำเนิดโดยไม่มีการผสมพันธุ์ พบได้ในสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ จำพวกนก, ปลา และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ทว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจระเข้

นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า ลักษณะนี้อาจสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่มีวิวัฒนาการ นั่นหมายความว่า ไดโนเสาร์อาจมีความสามารถในการสืบพันธุ์ด้วยตัวเองได้เช่นกัน

ทั้งนี้ จระเข้อเมริกันเพศเมีย อายุ 18 ปี วางไข่ฟองหนึ่งในสวนสัตว์ ปาร์เก เรปทิลาเนีย เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ซึ่งแม้ตัวอ่อนจระเข้ที่อยู่ในไข่มีรูปร่างสมบูรณ์ แต่มันก็ตายก่อนที่จะได้ฟักตัวออกมา โดยทางสวนสัตว์ระบุว่า พวกเขาได้จระเข้ตัวนี้มา เมื่อตอนที่มันมีอายุ 2 ขวบ และถูกเลี้ยงแยกจากจระเข้ตัวอื่นมาตลอดชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิทยาศาสตร์ของสวนสัตว์จึงติดต่อกับ ดร.วอร์เรน บูธ ผู้ศึกษาเรื่องการตั้งท้องบริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันในทางวิทยาศาสตร์ว่า “พาร์ธีโนเจเนซิส” มานานกว่า 11 ปี ซึ่งภายหลังการวิเคราะห์ตัวอ่อนในไข่ บูธพบว่า มันมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับจระเข้ตัวแม่มากกว่า 99.9% เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ตัวอ่อนไม่มีจระเข้ตัวพ่อ

บูธ สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ไม่พบพาร์ธีโนเจเนซิสในจระเข้นั้น เป็นเพราะไม่มีการมองหาตัวอย่างของพวกมัน อีกทั้งยังมีทฤษฎีหนึ่งที่ระบุว่า ปรากฏการณ์ตั้งท้องบริสุทธิ์ เกิดขึ้นในสายพันธุ์สัตว์ที่สามารถสร้างกลไกพาร์ธีโนเจเนซิส เมื่อพวกมันมีจำนวนน้อยลง และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

“ข้อเท็จจริงที่ว่า กลไกของพาร์ธีโนเจเนซิสมีความเหมือนกันในสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ นั้น บ่งชี้ว่า มันเป็นคุณลักษณะแบบโบราณมาก ที่สืบทอดต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น สิ่งนี้จึงสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ไดโนเสาร์สามารถสืบพันธุ์ด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน” บูธ กล่าว.

เครดิตภาพ : AFP