จากกรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขี่รถจยย.บิ๊กไบค์ ดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. โฆษก บช.น. กล่าวว่า กรณีการตรวจพิสูจน์ความเร็ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นความเร็วช่วงที่ผู้ต้องหาขี่จยย. แซงรถตู้ใช้ความเร็วประมาณ 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความผิดตามกฎหมายขับรถใช้ความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดยทางพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ส่วนอีกข้อหาหนึ่งคือขับรถ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักฐานจะสามารถแจ้งข้อหาเพิ่มเติมภายในวันที่  31 ม.ค. นี้ คาดว่าผู้ต้องหาจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาช่วงระหว่าง 29-31 ม.ค. ช่วงที่อยู่ระหว่างขอลา

ทั้งนี้ หากมีความผิดเพิ่มเติมทางพนักงานสอบสวนก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกครั้ง ยืนยันว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ความสำคัญสั่งการมาที่ บช.น. โดยบช.น.มอบหมายรอง ผบช.น. ดูแลงานสอบสวน และรอง ผบก.น.1 ดูแลงานสอบสวนลงไปดูแล ยืนยันว่า ทางพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการได้ทันภายในวันที่ 11 ก.พ.นี้

ส่วน ส.ต.ต.มีการลากิจเพิ่มเติมหรือไม่ พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ มาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ทางต้นสังกัด ได้ทำการสอบสวนปากคำพิจารณาข้อบกพร่องทางวินัย และขอลาต่อในวันที่ 29-31 ม.ค. อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ดูแลงานจราจร มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม สำนักการจราจรและขนส่ง กรมการขนส่งทางบก นักวิชาการด้านความปลอดภัย กรมทางหลวง มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้มอบหมายตำรวจทุกหน่วยทั่วประเทศ รวมถึง บช.น. ทำการสำรวจทางม้าลายทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำทางม้าลายให้ปลอดภัยมากที่สุด

“กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการบริเวณจุดเกิดเหตุทาสีแดงเพิ่มเติม รอบพื้นที่ในส่วนของทางข้ามที่เป็นสีขาวเพื่อให้มองเห็นชัดเจนมายิ่งขึ้นในช่วงวันที่ 29-30 ม.ค.นี้ นอกจากนี้ทำการติดตั้งเสาสัญญาณไฟเป็นระบบคนกดในเวลาข้ามใช้เวลาติดตั้งไม่เกิด 15 วัน และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อทำการตรวจจับผู้กระทำความผิดผู้กระทำความผิดขับขี่รถระหว่างคนเดินข้ามทางม้าลายแล้วไม่หยุด เป็นกล้องเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบของการออกใบสั่ง ส่งใบสั่งไปให้ผู้กระทำความผิดดำเนินคดีโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งหมดเป็นโครงการระยะสั้นแก้ไขปัญหาบริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนการดำเนินการในระยะยาวนั้น ทางข้ามทางม้าลายในกรุงเทพมหานครมี 3,280 แห่ง กรุงเทพมหานครจะทำการติดตั้งสัญญาณไฟจำนวน 100 ทางแยก ทาง บช.น.ส่งจำนวนทางแยกมีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ข้ามทางม้าลายส่วนหนึ่งแล้ว จะพิจารณาร่วมกันเพื่อดำเนินการติดตั้งต่อไป” รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร กล่าว.