เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันข้ามวันข้ามคืน หลังจากมีข่าวว่าหนุ่มใหญ่รายหนึ่งออกมาร้องขอความช่วยเหลือ จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพราะตัวเองไปเสียรู้ให้แก่สาวในโลกโซเชียล หลอกให้โอนเงินไปให้ถึง 30 ครั้ง จนต้องสูญเสียเงินไปถึง 9 แสนบาท จากที่ไม่เคยมีหนี้สินก็กลับมาเดือดร้อน ทั้งที่ฝ่ายชายยังไม่เคยเจอกับฝ่ายหญิง หรือเห็นหน้ากันจริง ๆ แต่อย่างใด จนสุดท้ายฝ่ายหญิงปิดการติดต่อไปดื้อ ๆ

โดยในรายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้มีการสัมภาษณ์ นายสมาน (สงวนนามสกุล) ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้รัก จนต้องโอนเงินไปกว่า 9 แสนบาท โดยจุดเริ่มต้นมาจากการไปรู้จักกันในเฟซบุ๊ก บอกว่าเดือดร้อนเรื่องค่าไฟ 24,000 บาท ด้วยความสงสารจึงเสนอตัวเข้าไปช่วยเหลือ มีการโอนเงินไปให้ตามจำนวนดังกล่าว ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นใบเสร็จจ่ายค่าไฟแต่อย่างใด

จากนั้นก็มีการคุยกันผ่านเฟซบุ๊กตลอดตั้งแต่วันที่ช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือน เมษายน ทำให้เกิดความสนิทสนมกันและเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ พูดคุยเชิงชู้สาวเรียกแทนตัวเองว่า “พ่อ” และ “แม่” เหมือนสามีภรรยา อย่างไรก็ตาม ช่วงที่พูดคุยกันนั้น ฝ่ายหญิงมักจะอ้างว่าเจอปัญหาชีวิตมากมาย ตั้งแต่ ป้าป่วย, พ่อแม่แขนหัก, ตัวฝ่ายหญิงแขนหัก, ฝ่ายหญิงติดหนี้บูโร และอื่น ๆ จนโอนเงินไปให้รวมทั้งหมด 963,994.82 บาท

ขณะที่ นายสมาน อ้างว่า ที่ผ่านมาพยายามขอให้วิดีโอคอลแบบเห็นหน้ากัน หรือขอให้มาเจอกันบ้าง แต่กลับถูกฝ่ายหญิงบ่ายเบี่ยงบอกว่ายังไม่พร้อมเพราะตัวเองแขนหักอยู่และอื่น ๆ ตอนแรกเห็นว่ามีความเดือดร้อนจริง แต่ระยะหลังเห็นว่าไม่ใช่แล้ว คิดว่าน่าจะโดนหลอกแน่ ๆ จึงอยากขอความช่วยเหลือจากนักกฎหมาย เพราะตอนนี้ฝ่ายหญิง ปิดเฟซบุ๊ก ปิดมือถือ บล็อกการติดต่อทุกอย่างไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายหญิงติดต่อมาครั้งสุดท้าย บอกว่าไม่ได้มีการหลอกแต่อย่างใด มีหลักฐานทุกอย่าง ตนจึงบอกว่ามีหลักฐานอะไรให้เอาออกมาโชว์ เพราะตอนนี้ตนต้องการเงินคืนกลับมาบ้าง ขอสัก 4-5 แสนก็ยังดี เพื่อจะได้จบเรื่องนี้

ด้าน นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง เปิดเผยทำนองว่า การให้โดยเสน่หา ต้องเป็นการให้โดยไม่ถูกหลอก เช่น ไม่ได้โกหก ว่าบ้านจะถูกยึด รถจะถูกยึด หรือ ไม่ได้โกหกว่า ตัวเองเจ็บป่วยเข้ารพ.

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ระบุว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูก หลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นเรื่องนี้ ต้องมีการพิสูจน์ว่า ฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมอย่างไร มีการทำให้หลงเชื่อหรือไม่ แต่การนำเอาข้อความทางแชท มาอ้างว่าฝ่ายชายให้ฝ่ายหญิงเองด้วยความเสน่หานั้นนำมาใช้ไม่ได้ เพราะต้องไปดูกันที่หลักฐานว่า ฝ่ายหญิงเอาเงินไปทำอะไรกันแน่ ถ้านำไปใช้ตามที่อ้างว่าเดือดร้อนเรื่องนั้นจริง ก็ไม่สามารถนำเงินคืนมาได้ แต่หากนำไปใช้อย่างอื่น แล้วหลอกว่าเดือดร้อนเรื่องนั้น ก็จะเข้าสู่ “คดีฉ้อโกง” ซึ่งต้องมีการแจ้งความไว้หลังจากที่รู้ภายใน 3 เดือนก่อนขาดอายุความ ซึ่งหลังจากแจ้งความไว้แล้ว ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเจรจากันได้ตลอดเวลา ว่าจะยอมความความกันหรือไม่ ส่วนที่ว่าจะได้เงินคืนไหมนั้น ไม่สามารถบอกได้เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิง ที่จะยอมคืนเงินหรือไม่ แต่หากดูจากพฤติการณ์แล้ว มีการโอนเงินหลายครั้ง โอน 1 ครั้ง ก็คือ 1 กรรม หากผิดจริงก็เท่ากับโทษ 3 ปี หากหลอกให้โอนไปหลายครั้งก็ผิดหลายกรรม ซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี.

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากรายการ ถกไม่เถียง

สามารถติดตามชมคลิปรายการ “ถกไม่เถียง” ได้ที่นี่คลิก