กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจในการบริหารความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการเผยแพร่ และการฝึกอบรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ  โดยร่วมมือกับต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ในลักษณะความร่วมมือในกรอบทวิภาคี พหุภาคีและกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค รวมทั้งดำเนินงานตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

การดำเนินงานจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ (Annual International Training Course: AITC) เป็นภารกิจหลักสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับประเทศยุทธศาสตร์และกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับไทยไม่มากนัก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับสถานะทางยุทธศาสตร์ของไทย ในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้กำหนดสาขาหลัก (Theme) ในการจัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา และประเด็นที่ไทยต้องการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ จำแนกได้เป็น ๕ สาขาหลัก ได้แก่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สาธารณสุข (Public Health) และสาขาอื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญ สามารถแบ่งปันหลักปฏิบัติและความรู้ที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ซึ่งที่ผ่านมากรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมปีละประมาณ ๒๐ – ๓๐ หลักสูตร มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากประเทศในกลุ่มเป้าหมายหลักสูตรละประมาณ ๒๐ – ๒๕ ราย

เนื่องจากในปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดฝึกอบรมจากเดิมให้ผู้เข้าอบรมเดินทางเข้ามาอบรมในประเทศไทยเป็นรูปแบบออนไลน์ ทำให้สามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้มากยิ่งขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดหลักสูตรฝึกอบรมแล้วทั้งสิ้น ๖ หลักสูตร ดังนี้

๑) หลักสูตร Climates Smart Agriculture: Smart Farming ระหว่างวันที่ ๕ – ๒๓ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับ ส่วนวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของประเทศไทยในด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงการปรับตัวของเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาผลผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างชาญฉลาด มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๙๒ ราย จาก ๒๕ ประเทศ โดยเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๔๙ ราย จาก ๑๙ ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย บอตสวานา บรูไน กัมพูชา กานา ฮังการี อินโดนีเซีย มาลาวี มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน ปานามา ปารากวัย ฟิลิปปินส์ ซูดาน แทนซาเนีย ประเทศไทย ตุรกี และอุซเบกิสถาน

๒) หลักสูตร Community Empowerment to Promote Healthy Early Childhood ระหว่าง วันที่  ๗ – ๒๓ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทยในการเสริมสร้างการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเด็กปฐมวัย โดยผ่านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม สังคม และครอบครัว ที่เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเจริญเติบโตของเด็ก มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๔๐ ราย  จาก ๑๘ ประเทศ โดยเข้าร่วมอบรม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๒๔ ราย จาก ๘ ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน มัลดีฟส์ เมียนมา และฟิลิปปินส์

๓) หลักสูตร Global Warming Mitigation and Adaptation by Balancing Sustainable Energy Management (GSEM) ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๗ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของไทยในการบรรเทาและปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน โดยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการจัดการพลังงาน เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลและความยั่งยืน รวมถึงแบ่งปันความรู้ในการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ประเทศไทยนำมาใช้ในการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๕๓ ราย จาก ๒๐ ประเทศ โดยเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๑๗ ราย จาก ๗ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไทย กายอานา เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และอิหร่าน

๔) หลักสูตร Community Mental Health ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๒๑ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของไทยในการพัฒนาสุขภาพจิตภายในชุมชน โดยใช้หลักการและกระบวนการที่ถูกต้อง เช่น การจัดสรรนักจิตวิทยาชุมชน การจัดตั้งศูนย์บริการบำบัดจิตใจ และการทำแบบสำรวจสุขภาพจิตของคนในชุมชน รวมถึงแนวทางในการรับมือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตท่ามกลางสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีผู้สมัครเข้าอบรมจำนวน ๔๙ ราย จาก ๑๖ ประเทศ  โดยเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๒๗ ราย จาก ๙ ประเทศ ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา บอตสวานา บราซิล กัมพูชา มัลดีฟส์ นิการากัว ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย

๕) หลักสูตร Sustainable Community Development Applying Sufficiency Economy Philosophy from Theory to Practice ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๙ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของประเทศไทยในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางหรือเป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกลไกการพัฒนาชุมชนที่มีการพึ่งพาตนเอง การนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการพัฒนาชุมชน       มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๔๕ ราย จาก ๑๘ ประเทศ โดยเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๓๐ ราย จาก ๑๔ ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บอตสวานา กัมพูชา เอกวาดอร์ เกรเนดา กายอานา อินโดนีเซีย อิหร่าน โมร็อกโก ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย ติมอร์-เลสเต  อุซเบกิสถาน และเวเนซุเอลา

๖) หลักสูตร Ending HIV-related Stigma in Health Facilities to Fast-Track 95-95-95 Targets ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๓๐ ก.ค. ๒๕๖๔ ร่วมกับกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทยและแนวปฏิบัติที่ดีในการ   ลดการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติของการดำเนินงานในสถานพยาบาล และความท้าทายในการยุติเอชไอวีหรือเอดส์ มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๕๐ ราย จาก ๑๑ ประเทศ โดยเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๒๑ ราย จาก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อิหร่าน สปป.ลาว มอริเตเนีย  เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา แทนซาเนีย ไทย และติมอร์-เลสเต

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://qrgo.page.link/LLuk4 หรือ