เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เป็นประธานเปิดการประชุม 1st Joint TINT – NUCLEAR MALAYSIA ASEAN Nuclear Power Safety Research (NPSR) Technical Meeting on Probabilistic Safety Assessment and Human Reliability Analysis on Nuclear Research Reactor in ASEAN Region ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–20 ก.ค.66 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

การประชุมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้เครือข่าย ASEAN NPSR โดยมีสทน. ในฐานะ ASEAN NPSR Co-lead country กับ Nuklear Malaysia ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ และได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก Korea Atomic Energy Research Institute (KAERI) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เครือข่าย ASEAN NPSR ได้มีความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับ KAERI

รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน มีประสบการณ์ยาวนานในการดำเนินงานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย และในปัจจุบันถือว่ามีความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ได้แก่ Small Modular Reactors (SMR) และการศึกษาวิจัยด้านพลังงานฟิวชัน

ดังนั้นความรู้ในเรื่องความปลอดภัยและการจัดการ และบริหารความเสี่ยง สำหรับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก และกลายมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ ของเครือข่าย ASEAN NPSR เนื่องจาก การวิเคราะห์ประเมินความปลอดภัยด้วย PSA และ HRA ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ที่จะนำไปสู่การเป็นสังคมลดการปล่อยคาร์บอน

การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเวทีในการนำเสนอและหารือด้านงานวิจัยและเครือข่ายในระดับนานาชาติของประเทศสมาชิกในอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์ในอาเซียน ภายใต้เครือข่าย ASEAN NPSR เพื่อร่วมมือกันสร้างความร่วมมืองานวิจัยในระดับนานาชาติจากงานวิจัย ด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ผ่านงานวิจัยที่เป็นจุดแข็งของประเทศในภูมิภาคอาเซียน

โดยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ได้มีความพยายามที่จะวางรากฐานการประเมินความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ผ่านการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการประเมิน Probabilistic Safety Assessment (PSA) และ Human Reliability Analysis (HRA) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย

โดยได้มีการริเริ่มจุดเริ่มต้นจากการศึกษาเดียวกัน คือการทำความเข้าใจและพัฒนาเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงด้วย PSA และ HRA ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ซึ่งเป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่มีอยู่และสามารถใช้งานจริงในภูมิภาคอาเซียน โดยองค์ความรู้จาก ประเมินความเสี่ยงด้วย PSA และ HRA ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา เครือข่ายและบุคลากรเพื่อต่อยอดไปสู่การประเมินความเสี่ยงด้วย PSA และ HRA ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Large NPPs และ SMRs) ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็มีการขับเคลื่อนแผน Large NPPs และ SMRs อย่างมีนัยสำคัญ