เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning Amazing KAN2 “รู้คิด รู้ทำ รู้ตำนาน สืบสาน กาญจน์ 2” ซึ่งจัดโดย สพป.กาญจนบุรี เขต 2 โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในจังหวัดเข้าร่วมงาน ได้แก่ นายอนันต์ กัลป์ปะ ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 2, 3, 4 ผู้แทน ผอ.สพม.กาญจนบุรี ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน จาก 99 โรงเรียนในสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 2 จำนวนรวมกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน ณ สพป.กาญจนบุรี เขต 2 และมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook Live ของ สพป.กาญจนบุรี เขต 2

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 2 ได้มีเวทีในการนำเสนอผลงาน นวัตกรรม และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) พร้อมทั้งยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และศึกษานิเทศก์ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และภาคีเครือข่าย โดยผลงานเชิงประจักษ์รวมทั้งสิ้น 284 ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานด้านการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) จำนวน 183 ผลงาน และผลงานด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สำหรับครูผู้สอน จำนวน 101 ผลงาน

ทั้งนี้ ได้มีการมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร ผลงานโรงเรียนต้นแบบจากการดำเนินงานนโยบายตามแผนปฏิบัติการ ของ สพฐ. และนโยบายของ สพป.กาญจนบุรี เขต 2 จำนวน 12 รายการ รวม 158 ผลงาน โดยมีการนำเสนอบูธนิทรรศการแสดงผลงาน Active Learning ภายในหอประชุม จำนวน 10 บูธ และการนำเสนอทักษะอาชีพนักเรียนจากกลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพโรงเรียน จำนวน 11 แห่งในสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 2 บริเวณหน้าหอประชุม พร้อมทั้งกิจกรรมการประกวด “ภาษาวัยใสปฐมวัยกาญจน์สอง” สำหรับครูผู้สอนปฐมวัย และกิจกรรมการนำเสนอผลการนิเทศภายในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2566 อีกด้วย

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ สพฐ. มีแนวทางที่ชัดเจนโดยมุ่งเป้าหมายที่นักเรียน โดยส่วนแรกที่เน้นย้ำคือกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสในการคิด ได้ฝึกปฏิบัติจริงและสามารถสื่อสารอธิบายถึงความเข้าใจ การต่อยอด การนำไปใช้ได้ โรงเรียนและครูได้ร่วมกันวางแผนในการจัดการเรียนรู้ที่ลงสู่ผู้เรียน ด้วยสื่อทึ่หลากหลาย เน้นการเข้าถึงองค์ความรู้ของนักเรียนเพื่อพร้อมนำไปใช้ จึงทำให้ GOAL ของหลักสูตรชาติครบสมบูรณ์และง่ายที่สุดเป็นทางลัดและสามารถบ่มเพาะปลูกฝังนักเรียนได้ด้วย คือ การพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสคุยกับปราชญ์ชุมชน ได้เห็นของจริงนำสู่การเกิดความอยากรู้อยากเห็นและเกิดคำถามที่จะกระตุ้นผู้เรียน ซึ่งส่วนที่ 1 นั้นนักเรียนจะได้เรียนรู้ตามมาตรฐานและตัวชี้วัด ในส่วนที่ 2 เด็กได้อะไร เด็กอยากรู้อะไร เด็กก็จะพูดออกมาซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนที่เกิดขึ้น และส่วนที่ 3 เด็กได้พูดคุยกับคนต่างรุ่น ต่างยุคสมัย และรักความเป็นไทยซึ่งจะติดตัวเราไป เด็กจะรู้ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้โรงเรียนนั้นมีความหมาย และสิ่งที่สำคัญที่สุดจะเกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนคือ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าทั้งเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิบัติลงสู่ผู้เรียนของเรา ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เด็กจะได้คิด วิเคราะห์และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างง่ายขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความสุข ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าอีกด้วย

ในส่วนของการประเมินผลการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ต้องมีการบูรณาการตัวชี้วัดและอาจจะมีหลายวิชาที่ต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการเรียนรู้ โดยที่ยังมีเป้าหมายคือการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ทั้ง 3 ส่วน คือมาตรฐานและตัวชี้วัด สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ โดยเฉพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เราจะต้องปลูกฝังและบ่มเพาะซึ่งต้องใช้เวลา เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งตรงจุดนี้อยากให้โรงเรียนวัดผลและประเมินผลไปให้ถึงการประเมินอย่างแท้จริง คุณครูต้องร่วมมือกันในหลายวิชาเพื่อร่วมกันวัดและประเมินผลจากชิ้นงานของนักเรียนที่มีการลงรายละเอียด เป็นผลงานเชิงประจักษ์ได้ โดยต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกๆ คนในโรงเรียนโดยมี ผอ.รร.ต้องพานำ พาทำ พาคิด สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน

“สำหรับการจัดงานในวันนี้ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ช่วยกันทำให้จังหวัดกาญจนบุรีของเราได้มีผลงานที่สามารถเผยแพร่และเป็นที่ชื่นชมให้เขตพื้นที่การศึกษาอื่นและเครือข่ายของเรา ซึ่งสิ่งที่เราได้เห็นและรับรู้ได้ในงาน ACTIVE LEARNING AMAZING KAN 2 คือ การเชื่อมโยงการเรียนรู้ การปรับตัวเข้าหากันระหว่างช่วงวัย เป็นความลงตัวของคน Gen ใหม่กับ Gen เก่า นำสู่การเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างช่วงวัย แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเขตพื้นที่การศึกษา ตนรู้สึกดีใจและประทับใจที่เห็นสิ่งที่เป็นผลผลิต ที่ไม่ใช่อยู่ที่ครูเพียงอย่างเดียวแต่ลงถึงผู้เรียนด้วย ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เป็นเวทีให้กับนักเรียน โรงเรียนและคุณครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อจะได้นำสิ่งที่ได้รับและเรียนรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาโรงเรียนของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว