เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 25 ก.ย. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียระหว่างกรุงเทพมหานครกับการประปานครหลวง (กปน.) โดยมี นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลจากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้ที่สร้างมลพิษมาก ก็จะต้องรับผิดชอบค่าบำบัดมลพิษที่เกิดขึ้น เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีทุกคน ไม่ให้เกิดนำภาษีของประชาชนส่วนรวมมาจ่าย และเป็นกระตุ้นให้คนใช้น้ำน้อยลง ระยะแรกคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 200 ล้านบาท
หากสถานประกอบการ โรงแรม หรือโรงงานใดที่มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานแล้ว สามารถเลือกที่จะไม่เข้าร่วมระบบบำบัดน้ำเสีย และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามนโยบายดังกล่าว แต่เชื่อว่าระบบบำบัดน้ำเสียของทาง กทม. จะมีข้อดีระยะยาวในการช่วยลดการลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียของผู้ประกอบการ ทั้งการดูแลรักษาระบบ และการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บำบัด ผ่านการใช้บริการกับทาง กทม. และ กปน.
“น้ำประปาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนกรุงเทพฯ ปัจจุบันเราใช้น้ำอยู่ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เมื่อใช้เสร็จก็กลายเป็นน้ำเสีย บางส่วนเอกชนก็จะบำบัดเอง บางส่วนก็ส่งไปบำบัดรวมที่ส่วนกลาง หรือที่โรงบำบัดน้ำเสียของ กทม. ที่มีอยู่ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการถึงปีละ 800 ล้านบาท ขีดความสามารถในการบำบัดคือ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้ง 100% ทำได้เพียง 37%” นายชัชชาติ กล่าว
ด้านผู้ว่าฯ กปน. กล่าวว่า กปน.เห็นด้วยกับกทม.ตามหลักการที่ว่าผู้ที่ก่อไห้เกิดมลภาวะต้องมีส่วนร่วม ความร่วมมือในครั้งนี้กปน.พร้อมสนับสนุนข้อมูลให้กับกทม.เพื่อให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอนาคตอาจจะมีความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสียอื่นๆ เพิ่มเติมอีก
ขณะที่ นายวิศณุ กล่าวว่า การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในครั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บได้ในต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยการจัดเก็บแยกเป็น 2 กลุ่ม คือสำนักงาน และสถานประกอบการที่ใช้น้ำจำนวนไม่เกิน 2,000 ลบ.ม. จะเก็บในอัตรา 4 บาท ต่อ ลบ.ม. แต่สถานประกอบการ โรงแรมขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเกิน 2,000 ลบ.ม. จะเก็บในอัตรา 8 บาท ต่อ ลบ.ม. สำหรับวิธีการจัดเก็บ กทม. จะเป็นผู้ออกใบแจ้งหนี้เอง โดยในอนาคตจะหารือ กปน. เพื่อให้การออกใบแจ้งหนี้เป็นใบเดียวกัน
ในส่วนของสถานประกอบการหรือโรงแรมที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเองแล้ว อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าบำบัดนี้ และในส่วนของสถานประกอบการที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่บริการของโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม. ทั้ง 8 แห่ง ก็ยังไม่จ่ายค่าบำบัดเช่นกัน
ทั้งนี้ กทม. ได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยที่ผ่านมา ผู้แทนของกรุงเทพมหานครและการประปาได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
โดยพื้นที่บริการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 22 เขตการปกครอง ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หลักสี่ หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง และราษฎร์บูรณะ.