จากกรณีเด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงประชาชนกลางห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 4 ต.ค. “ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์” ได้พูดคุยสอบถามกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รอง ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต และในฐานะโฆษกกรมสุขภาพจิต ในประเด็นผลพวง ข้อกังวล และสะท้อนกลไกการแก้ปัญหาจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากเด็ก ว่า

ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ตนมองว่าจะสร้างความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจทั้งต่อเด็กผู้ก่อเหตุและสถาบันครอบครัวของผู้ก่อเหตุได้ แต่มูลเหตุจูงใจในขณะนี้นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไร ซึ่งจะต้องให้เป็นขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทางกฎหมายเพื่อตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนทุกมิติก่อน ทั้งการสืบสวนสอบสวนและการแสวงหาพยานหลักฐานจากบุคคลที่ก่อเหตุเองและจากพยานแวดล้อม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการปรึกษาและประสานขอเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตเข้าร่วมสอบถามในเรื่องนี้อีกด้วย

ตนจึงมองว่าหากจะให้มีการวินิจฉัยหรือประเมินว่าเหตุการณ์ด้านสุขภาพจิตของเด็กผู้ก่อเหตุจะเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ หรือถ้าเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องด้วยเรื่องใด อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็จะต้องเร่งจัดการแก้ไขในเรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งค้นหาสาเหตุหรือแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องบริหารจัดการเรื่องการเยียวยาสภาพจิตใจคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ หรือประชาชนที่กำลังรับชมข่าวสารเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่แล้วรู้สึกหวาดกลัว กังวล แพนิค ในฐานะแพทย์ ตนมองขยายออกไปว่า เหตุการณ์นี้จะมีประเด็นผลพวงดังกล่าว ที่จะต้องให้ความสำคัญมากเช่นเดียวกัน

ดร.นพ.วรตม์ เผยต่อว่า เคสดังกล่าวถือมีความซับซ้อนสูงมาก เพราะในประวัติศาสตร์ ตนไม่เคยเจอในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก่อเหตุใช้ปืนกราดยิงประชาชนในที่สาธารณะ ดังนั้น จึงไม่อยากให้มีการด่วนสรุปสาเหตุว่าเป็นปัญหาจากเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก หรือเป็นปัญหามาจากเรื่องการติดเกมหรือไม่ เพราะจะทำให้อาจพลาดเหตุผลหลายอย่างที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับประวัติการรักษาอาการทางจิต จะต้องให้แพทย์จากกรมสุขภาพจิตได้มีการประเมินสอบสวนโรคกับตัวผู้ก่อเหตุให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งกระบวนการจะมีการสอบถามถึงภูมิหลังครอบครัว ประวัติพื้นฐานการใช้ชีวิต การศึกษา และกิจกรรมชื่นชอบส่วนตัว รวมถึงความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด

และถ้าหากผู้ก่อเหตุมีอาการเกี่ยวกับจิตเวชจริงจะสามารถส่งผลเป็นมูลเหตุจูงใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่าง 100% หรือไม่นั้น ตนยอมรับว่าไม่เคยเห็นการก่อเหตุในลักษณะนี้ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมาก่อน นี่จึงเป็นครั้งแรก ส่วนเรื่องการติดเกม หลายคนอาจมองว่าเกมอาจส่งผลให้มีอาการหงุดหงิดหรือก้าวร้าว แต่ในทางกลับกันมีงานวิจัยที่บอกว่าคนที่มีอาการดังกล่าวอยู่แล้วนั้น อาจจะเป็นตัวชักนำให้บุคคลดังกล่าวมาเล่นเกมที่ก้าวร้าวได้เหมือนกัน แต่ในสถิติประเทศไทยพบว่ามีคนเล่นเกมกว่าล้านคน ทั้งเด็กและวัยรุ่น แต่ก็ยังไม่เคยพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่มีการทำร้ายผู้อื่น จึงยังไม่ควรสรุปฟันธงว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องสุขภาพทางจิตและเรื่องการเล่นเกม

ดร.นพ.วรตม์ เผยด้วยว่า สำหรับการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้น ปกติจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบในด้านดังกล่าวเข้าให้ความช่วยเหลือและประเมินสุขภาพจิตในเบื้องต้นกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์หรือได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ได้แก่ คนที่ได้ยินเสียงปืน คนที่วิ่งหนีออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุและพ่วงอาการหวาดกลัววิตกกังวล โดยในวันนี้ทราบว่ากรมสุขภาพจิตได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อสำรวจผู้ได้รับผลกระทบและให้มีการกรอกแบบฟอร์ม และมีการเตรียมสแตนด์บายสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อให้คำปรึกษาพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนคนกลุ่มถัดมา คือ คนที่อยู่ที่บ้านหรือที่พักอาศัย อาจจะต้องอาศัยบุคคลใกล้ชิดเพื่อพูดคุยให้กำลังใจกันและหมั่นสังเกตพฤติกรรมอาการเพิ่มเติม และกลุ่มสุดท้าย คือ คนวงรอบในสังคมที่ให้ความสนใจกับข่าวนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องดีที่สังคมให้ความสนใจ แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่าพร้อมหรือไม่กับการตามอ่านข่าวตลอดเวลา หรือได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากการเสพข่าว มีความรู้สึกแย่หรือเครียดหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวจะต้องให้หยุดพักการเสพข่าว และเลิกเล่นโซเชียลมีเดียไว้ก่อน จากนั้นหันหน้าพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้าถึงการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

เมื่อถามว่าภายหลังจากเหตุการณ์นี้ คิดว่าลักษณะการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนจะมีภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ มีสัญญาณใดบ้างที่ในฐานะแพทย์เกี่ยวกับจิตเวชมองว่าอาจเกิดขึ้นได้หรือเป็นข้อน่ากังวลนั้น ดร.นพ.วรตม์ เผยว่า มันจะรุนแรงกว่านี้ได้ ซึ่งตนพูดมาตลอดว่าเหตุการณ์ที่กังวลมากที่สุดคือการกราดยิงภายในโรงเรียน แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้จะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็เป็นข้อน่ากังวลที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่ทุกอย่างก็มีความเป็นไปได้ และเปอร์เซ็นต์การเกิดจะมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการแอ๊คชั่น การแสดงออกของทุกคนที่เกี่ยวข้องในวันนี้ ถ้าไม่คิด ไม่สนใจ ไม่มองถึงการป้องกันการก่อเหตุซ้ำหรือป้องกันการมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ เหตุการณ์ที่กังวลอยู่นี้ก็จะเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นเร็ว เราจึงควรป้องกันโดยการร่วมกันไม่ส่งต่อรูปการณ์ แรงจูงใจ อุปกรณ์วิธีการต่างๆ หรือข้อมูลส่วนตัวที่ทำให้กลุ่มคนที่อาจจะเข้าใจผิดในพฤติกรรมดังกล่าวอยู่แล้วต้องการแสง เราจึงต้องช่วยไม่ให้เกิดคนที่สองหรือคนที่จะก่อเหตุซ้ำขึ้นมา เพื่อป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมครั้งถัดไป

“ทั้งนี้ ตนหวังให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันคืนความปลอดภัยในที่สาธารณะให้กับคนในสังคมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการคืนความเชื่อมั่นให้คนไทยหรือชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว โดยจะต้องร่วมกันถอดบทเรียนและวางมาตรการความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่หวาดระแวง หรือวิตกกังวลในขณะใช้ชีวิตประจำวัน” ดร.นพ.วรตม์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุปิดท้าย.