เมื่อวันที่ 7 ต.ค. สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาไอแอลโอ 87, 98 นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย นำเครือข่ายแรงงาน จัดกิจกรรม เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล : World Day for Decent Work โดยมีการเดินขบวนแรงงานจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังสำนักงาน UN เพื่ออ่านแถลงการณ์ เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรมว.การคลัง รวมถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน คนใหม่ จะเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน มีการรับฟังข้อเสนอของเรา โดยเฉพาะการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับ ที่ 87 และ 98 สนับสนุนให้มีเสรีภาพรวมตัว เจรจต่อรอง ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญแก่คนทำงาน
สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐบาล มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1.การยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งการจ้างงานในปัจจุบันเป็นการจ้างงานแบบการจ้างระยะสั้น เช่น เหมาค่าแรง เหมางาน จ้างงานบางช่วงเวลา การจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน ตามชิ้นงาน หรือ จ่ายรายวัน ซึ่งการจ้างงานดังที่กล่าวมา ได้แพร่ระบาดไปทั่ว ทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ บางแห่งจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ลูกจ้างในภาครัฐในทุกกระทรวง
2.ขอให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ค.ศ. 1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ค.ศ. 1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งขบวนการแรงงานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานทั่วโลกที่บัญญัติไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากล ILO และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่มีมา แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเหตุให้คนงานต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดแซงหน้าทุกประเทศในโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง และระบอบประชาธิปไตย
3.ให้รัฐบาลหยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ เช่น เรื่องพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง การธนาคาร การสื่อสารโทรคมนาคม รัฐควรดำเนินการเองเพื่อกำหนดราคาไม่ให้ราคาแพง เพราะจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายประชาชน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เกิดการผลิต การจำหน่าย เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีกำลังซื้อ ลดหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องเกือบเท่าจำนวนผลิภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแทนการแปรรูป.