ศ.ดร. สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะผู้บริหารและคณาจารย์ทีมหุ่นยนต์ ให้การต้อนรับ คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะอนุกรรมการ Reinventing University ร่วมลงพื้นที่ประเมินผลการดำเนินการโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ในการผลิตหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ “น้องดาวเหนือ” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประเภทบริการ (Service Robot) ที่มีความหลากหลาย สามารถทักทายและตอบสนองต่อท่าทางต่างๆ ในปีบประมาณ 2565 มจพ. ได้ดำเนินการจัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จัดตั้ง Acceleration Platform เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ช่วยในการรองรับการยกระดับมาตรฐานและเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระดับประเทศ ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงผ่าน KMUTNB Techno Park และได้มีการพัฒนาด้านการศึกษาและการวิจัย ร่วมกับ Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และบริษัท Yaskawa ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์มาต่อยอดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคาร 81 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566

“น้องดาวเหนือ” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการภาคอุตสาหกรรมที่สร้างโดยนักศึกษา มจพ. เป็นความร่วมมือจากหลายคณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ฯ TGGS และหุ่นยนต์ได้รับการออกแบบโครงสร้างภายนอกเพื่อความสวยงาม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สร้างโดยนักศึกษา มจพ. เป็นฝีมือเด็กไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งการประดิษฐ์คิดค้นการสร้างซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ โดยนำองค์ความรู้จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยที่ได้รับในแต่ละปีมาต่อยอดในการสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ให้มีประสิทธิภาพหลากหลายสามารถนำมาใช้งานได้ในทุกมิติ สามารถให้ข้อมูล การค้นหา และการนำทาง เพื่อไปยังตำแหน่งที่ต้องการ และออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักหนักบรรทุกสินค้าขนย้ายจากคลังสินค้าได้ แม้แต่การออกแบบหุ่นยนต์ให้มีท่าทางที่สื่อสารถึงความเป็นมิตร และการรับรู้ด้วยการมองเห็นสำหรับหุ่นยนต์ สามารถจำแนกประเภทหรือวัถตุที่อยู่ตรงหน้าได้ และประมวลผลภาพทางดิจิตอล สามารถตรวจจับมนุษย์ในขณะที่หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงบอกระดับของแบตเตอรี่ และมีระบบการควบคุมแบบระยะไกล ให้สามารถใช้งานหรือดูผ่านหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ สามารถส่งข้อตกลงหรือทำตามคำสั่งส่งไปยังระบบส่วนกลางของหุ่นยนต์เพื่อทำการตอบสนองต่อไป

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวง อว. ซึ่งเห็นว่า มจพ. มีความโดดเด่นและมีความเชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมในระดับที่สูงขึ้น ผ่านการดำเนินการตาม Platform ของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ และในอนาคตเรากำลังพัฒนาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติให้เป็นหุ่นยนต์ที่มีความอัจฉริยะช่วยในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ในปัจจุบันทันต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์นานาประเทศ