สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ว่า โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล (เอ็มจีเอช) ระบุในแถลงการณ์ว่า ทีมศัลยแพทย์ดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายไต กับนายริชาร์ด สเลย์แมน วัย 62 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง

เอ็มจีเอช ระบุเสริมว่า กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญในการหาอวัยวะที่พร้อมใช้งานให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น ขณะที่ นพ.ทัตสึโอะ คาวาอิ สมาชิกทีมศัลยแพทย์ที่ดำเนินการผ่าตัดครั้งสำคัญนี้ หวังว่าแนวทางการปลูกถ่ายนี้ จะช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก ที่กำลังทุกข์ทรมานจากภาวะไตวาย

ทั้งนี้ เอ็มจีเอช กล่าวว่า ไตหมูที่ศัลยแพทย์ใช้ในการปลูกถ่ายดังกล่าว ได้รับมาจาก “อีเจเนซิส” (eGenesis) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และมันได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม เพื่อกำจัดยีนหมูที่เป็นอันตราย และเพิ่มยีนของมนุษย์บางตัว

ภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่าย สเลย์แมนยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้น และคาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแม้เขาจะต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการปฏิเสธไตหมู แต่สเลย์แมนกล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการปลูกถ่ายไตหมู เพราะมันเป็นวิธีช่วยชีวิตเขา และสร้างความหวังให้กับผู้คนอีกหลายพันคนที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายไต

ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยดำเนินการปลูกถ่ายไตหมูสู่ร่างกายของ “ผู้ป่วยสมองตาย” แต่สเลย์แมน เป็นผู้ป่วยคนแรกที่ได้รับไตดังกล่าว “โดยยังมีชีวิตอยู่”

อนึ่ง เอ็มจีเอช ระบุเพิ่มเติมว่า อวัยวะที่ใช้ในการปลูกถ่าย มาจากหมูที่ถูกเลี้ยงแยกภายใต้สภาพแวดล้อมพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูสัมผัสกับการติดเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งหมูพิเศษเหล่านี้มีอวัยวะที่มีขนาดใกล้เคียง และทำงานเหมือนกับอวัยวะของมนุษย์ อีกทั้งการดัดแปลงพันธุกรรมของหมูเหล่านี้ ยังทำให้อวัยวะของพวกมันเข้ากับร่างกายของมนุษย์ได้มากขึ้นด้วย.

เครดิตภาพ : AFP