สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ว่านายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ( อียู ) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เกี่ยวกับ "กรอบการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ" ของการดำเนินนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นในการยกระดับความร่วมมือกับ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไต้หวัน เน้นทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และความมั่นคง โดยเฉพาะสถานการณ์เรื่องทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ บอร์เรลล์ยืนยันว่า การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งที่ประชุมอียูรับหลักการเมื่อปลายปีที่แล้ว และเผยร่างเนื้อหา เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา "ไม่ใช่การเพิ่มการบ่มเพาะแนวคิดต่อต้านจีน" และอียูมุ่งหวังลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการลงทุนโดยตรงกับจีน "ภายในอนาคตอันใกล้นี้" ตลอดจนการประสานงานกับรัฐบาลปักกิ่ง ในมิติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 
ขณะเดียวกัน  อียูยังคงเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่ายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงเสียดทานให้กับทุกประเทศในอินโด-แปซิฟิก "ไม่ต้องเลือกข้าง" อีกด้วย แต่มีการตั้งความคาดหวัง "ความสนับสนุนเพิ่มเติม" จากสหรัฐ ทั้งในด้านการทหาร การค้า และเทคโนโลยี เพื่อรักษาความเป็นเสรีด้านนโยบาย
อย่างไรก็ตาม บอร์เรลล์กล่าวว่า สหภาพ "ต้องเอาตัวรอดเหมือนบางประเทศ" และ "ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง" ต่อการที่ออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงความร่วมือพัฒนาเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.3 ล้านล้านบาท ) แล้วหันไปขอความร่วมมือจากสหรัฐและสหราชอาณาจักรแทน โดยทั้งสามประเทศเพิ่งประกาศการจัดตั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์แบบพหุภาคี "ออคัส"  ( AUKUS ) ครอบคลุมการดำเนินนโยบายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อคานอำนาจกับจีน.

เครดิตภาพ : AP