น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ที่ปรึกษา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ด้านกำกับดูแลกฎหมาย ดีพีเอส เปิดเผยว่า พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย ดีพีเอส ได้กำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งข้อมูล การประกอบธุรกิจให้ เอ็ตด้า ทราบ ภายในวันที่ 18 พ.ย.ที่จะถึงนี้ จึงได้เดินหน้าทำความเข้าใจกับ กลุ่มเป้าหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ แพลตฟอร์มต่างๆ ตลอดจนผู้แทนทางการทูต ของไทยประจำประเทศต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลและปฏิบัติตามกฎหมาย ดีพีเอส จะครอบคลุม 15 ประเภท ได้แก่
1. บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) 2. บริการ Sharing Economy Platform เช่น บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสาธารณะ (Ride Sharing) บริการเช่ายานพาหนะ (Car Sharing) บริการแบ่งปันความรู้/การศึกษา (Knowledge Sharing) บริการแบ่งปันแรงงาน (Labor Sharing) บริการแบ่งปันพื้นที่ (Space Sharing) สำหรับเช่าพื้นที่ เช่น ที่พักอาศัย (ที่ไม่ใช่โรงแรม) สำนักงาน เป็นต้น
3. บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) ได้แก่ บริการสื่อสารออนไลน์ทั่วไป (General) บริการสื่อสารออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Communication Commerce หรือ C-Commerce) เช่น Chat Bot ที่มีการเสนอสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภค หรือฟังก์ชันอื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ 4. บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น บริการสื่อสังคมออนไลน์ (General) บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Social Commerce (S-Commerce))
5. บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising Service) ซึ่งรวมถึง Advertising Networks บริการรวบรวมพื้นที่โฆษณาออนไลน์ และให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการลงโฆษณา และ Advertising Exchanges บริการที่นำพื้นที่โฆษณาออนไลน์และผู้ที่ต้องการลงโฆษณามาเจอกันและเปิดให้มีการประมูลราคาพื้นที่ต่างๆ 6. บริการสื่อโสตทัศน์และเพลง (Audio-Visual and Music Sharing) 7. บริการสืบค้น (Searching Tools) เช่น บริการสืบค้นข้อความ รูปภาพ โดยมีการแสดงผลเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง 8. บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator)

9. บริการแผนที่ออนไลน์ (Maps) 10. บริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browsers) 11. บริการผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) เช่น การใช้เสียงสั่งงานผ่านอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงบริการหรือควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ 12. บริการระบบปฏิบัติการ (Operating System) เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในออฟฟิศ 13. บริการโฮสต์ (Hosting Service) หรือให้บริการเช่าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเว็บไซต์ต่างๆ 14. บริการคลาวด์ (Cloud Service) และ 15. บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) โดยแพลตฟอร์มนี้จะครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศโดยให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ (User) ในไทยด้วย
“แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องมาแจ้งข้อมูลตามกฎหมาย คือ บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการ เกิดการเชื่อมต่อ เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตามนั้น ไม่ได้จำกัดแค่แพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวกลางสำหรับการซื้อขายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปในประเภทอื่นๆ ด้วย” น.ส.จิตสถา กล่าว
ทั้งยี้ขอเน้นย้ำสำหรับบริการแพลตฟอร์มแต่ละประเภทที่ตรงกับคำนิยามของกฎหมาย รวมถึงมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย เกิน 5,000 คนต่อเดือน (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม) ก็ถือว่าเข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มทั่วไป ที่ต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ เอ็คด้า ทราบ ให้แล้วเสร็จในกลุ่มแรก ที่มีกำหนดว่าต้องดำเนินการภายในวันที่ 18 พ.ย. 66
อย่างไรก็ตามคำนิยามของแพลตฟอร์มที่ชัดเจนตามกฎหมาย จะไม่รวมถึง แพลตฟอร์มที่มีไว้เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเดียว หรือบริษัทในเครือที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไปพิจารณาเพิ่มเติมตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) เรื่องลักษณะของการให้บริการแพลตฟอร์มฯ ที่มีหน้าที่แจ้งรายการโดยย่อ หากแพลตฟอร์มดังกล่าวมีบริการ Hyperlink หรือ Banner ไปยังบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น